บก.ปอศ. โชว์ปราบซอฟต์แวร์เถื่อน ตั้งเป้าลดละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์เหลือ 70%

ดาวไม่ได้ใช้งานดาวไม่ได้ใช้งานดาวไม่ได้ใช้งานดาวไม่ได้ใช้งานดาวไม่ได้ใช้งาน
 

เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2556 ที่ผ่านมา กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (บก. ปอศ.) ประกาศความพร้อมเดินหน้าปราบปรามการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง หวังอัตราการละเมิดลิขสิทธิ์ลดลงเหลือ 70 เปอร์เซ็นต์ พร้อมเร่งสร้างความตระหนักรับรู้ถึงโทษภัยของการใช้ซอฟต์แวร์เถื่อนทั้งในภาคธุรกิจและครัวเรือนโดยทั่วไป ตั้งเป้าเสริมความพร้อมให้ไทยหลุดโผประเทศที่ต้องจับตามองเป็นพิเศษของสหรัฐฯ (PWL)

 

ในปี 2555 ที่ผ่านมา บก. ปอศ. เข้าตรวจค้นพบองค์กรธุรกิจ 182 แห่งทั่วประเทศ และพบว่ามีการใช้ซอฟต์แวร์ที่ละเมิดลิขสิทธิ์ในเครื่องคอมพิวเตอร์พีซี 4,573 เครื่อง มูลค่าความเสียหาย 447.85 ล้านบาท โดยซอฟต์แวร์ที่ถูกละเมิดส่วนใหญ่เป็นของเจ้าของซอฟต์แวร์ อาทิ ออโตเดสก์ ไมโครซอฟท์ ซีเมนส์ และไทยซอฟท์แวร์เอ็นเตอร์ไพรส์

 

ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา อัตราการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์บนเครื่องพีซีของประเทศไทยลดลงจากร้อยละ 80 ในปี 2549 เหลือร้อยละ 72 ในปี 2554 ตามรายงานการศึกษาเรื่องการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ทั่วโลกของไอดีซี โดยอัตราการละเมิดลิขสิทธิ์เฉลี่ยของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกอยู่ที่ 60 เปอร์เซ็นต์

“การปราบปรามและลดอัตราการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ ยังคงเป็นหน้าที่หลักของ บก.ปอศ. หลังจากที่เราได้ประสบความสำเร็จในการลดอัตราการละเมิดลิขสิทธิ์ลงได้อย่างต่อเนื่องในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา โดยในปีนี้การบังคับใช้กฎหมายยังคงจะต้องมีการปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง และยังต้องมีการแจ้งเตือนประชาสัมพันธ์ให้สาธารณชนรับรู้ต่อไป” พ.ต.อ. ชัยณรงค์ เจริญไชยเนาว์ รองผู้บังคับการและโฆษกของ บก. ปอศ. กล่าว

 

ตามสถิติการจับกุมปี 2555 บก.ปอศ. ได้เข้าตรวจค้นและจับกุมองค์กรธุรกิจที่มีการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ในภาคอุตสาหกรรมหลักของประเทศเช่น อุตสาหกรรมการผลิต ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ อุตสาหกรรมอาหาร และอุตสาหกรรมยานยนต์ โดยมีผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์จากประเทศญี่ปุ่นรายหนึ่งมีการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ Product Life Cycle Management (PLM) ของซีเมนส์ มูลค่าสูงถึง 19.5 ล้านบาท นับเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ที่มีมูลค่าสูงสุดของปี 2555 นอกจากบริษัทสัญชาติไทยแล้ว ตำรวจยังได้ดำเนินคดีละเมิดลิขสิทธิ์โปรแกรมคอมพิวเตอร์กับบริษัทข้ามชาติที่ทำธุรกิจในประเทศไทย เมื่อนับจากจำนวนคดีทั้งหมดในปีที่แล้วกว่า 1 ใน 5 เป็นบริษัทข้ามชาติหรือบริษัทร่วมทุนกับต่างชาติ จากญี่ปุ่น สิงคโปร์ จีน ไต้หวัน สหรัฐอเมริกา และสหราชอาณาจักร

 

พ.ต.อ. ชัยณรงค์ กล่าวว่า ตำรวจกำลังจับตามององค์กรธุรกิจที่มีการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ โดยเฉพะอย่างยิ่งในภาคอุตสาหกรรมที่กล่าวมาข้างต้น รวมทั้งจะทำการเผยแพร่ข้อมูลเพื่อสร้างการรับรู้ในบรรดาผู้ประกอบการธุรกิจ ถึงเรื่องการบริหารจัดการสินทรัพย์ซอฟต์แวร์ภายในองค์กร เพื่อให้สามารถประกอบธุรกิจอยู่ภายใต้กรอบกฎหมายของไทยได้อย่างเหมาะสม

 

บก. ปอศ. ได้ทำงานร่วมกับหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องอื่นๆ เช่น กรมทรัพย์สินทางปัญญา อย่างใกล้ชิดโดยมุ่งหวังให้ประเทศไทยหลุดพ้นจากสถานะประเทศที่ต้องจับตามองเป็นพิเศษ ตามรายงานพิเศษของสำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐฯ มาตรา 301 ซึ่งจะประเมินและจัดอันดับประเทศคู่ค้าแต่ละรายในเรื่องการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาและแนวทางปฏิบัติว่าด้วยการเข้าถึงตลาด (Market Access Practice) เป็นประจำทุกปี

 

บก. ปอศ. ประกาศเจตนารมณ์ที่จะเป็นผู้นำในการลดอัตราการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ในเอเชีย และเป็นผู้ทำให้ประเทศไทยหลุดพ้นจาก PWL เพื่อให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าว บก. ปอศ. จะยังคงลงมือปฏิบัติการอย่างจริงจังกับองค์กรธุรกิจที่มีรายงานหรือต้องสงสัยว่าใช้ซอฟต์แวร์ที่ละเมิดลิขสิทธิ์อย่างต่อเนื่องต่อไป

 

พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 คุ้มครองลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ รวมถึงซอฟต์แวร์ของผู้พัฒนาชาวไทยด้วย องค์กรธุรกิจที่พบว่ามีความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์จะมีโทษทั้งจำและปรับ ผู้ที่แจ้งเบาะแสการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ผ่านทางหมายเลขโทรศัพท์ 0-2714-1010 หรือผ่านทางเว็บไซต์ มีสิทธิ์ได้รับเงินรางวัลสูงสุดถึง 250,000 บาท โดยข้อมูลของผู้แจ้งเบาะแสจะถูกเก็บไว้เป็นความลับ ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.stop.in.th

Share this post

Submit to FacebookSubmit to TwitterSubmit to LinkedIn