เตือนส่งออกไทยรับมือ UCA หลังแคลิฟอร์เนียเข้มสั่งฟ้องคดีสองเคสรวด

ดาวไม่ได้ใช้งานดาวไม่ได้ใช้งานดาวไม่ได้ใช้งานดาวไม่ได้ใช้งานดาวไม่ได้ใช้งาน
 

เมื่อวันที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2556 ที่ผ่านมา OCA ออกโรงเตือนผู้ส่งออกไทยเร่งปรับตัวด้านการใช้ซอฟต์แวร์ถูกลิขสิทธิ์ มิฉะนั้นอาจถูกดำเนินคดีและมีปัญหาในการส่งออกไปสหรัฐฯ เผยล่าสุดอัยการรัฐแคลิฟอร์เนียฟ้องสองผู้ส่งออกสิ่งทอจากจีนและอินเดีย ส่งสำนวนตั้งข้อหาใช้ซอฟต์แวร์เถื่อนในการทำธุรกิจ คาดศาลอาจสั่งปรับเงินเหมือนกรณี ณรงค์ซีฟูด เมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว OCA เตือนผู้ประกอบการตระหนักถึงโทษภัยของการใช้ซอฟต์แวร์เถื่อน ตำรวจไทยวอนผู้ประกอบการแค่ปฏิบัติตามกฎหมายไทยก็เพียงพอ

และเมื่อวันศุกร์ที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2556 อัยการรัฐแคลิฟอร์เนียได้ยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อดำเนินคดีกับบริษัทผู้ผลิตเสื้อผ้าในจีนและอินเดียฐานที่มีการใช้ซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์ในการประกอบธุรกิจ ซึ่งภายใต้กรอบกฎหมายว่าด้วยการแข่งขันทางธุรกิจที่ไม่เป็นธรรม (Unfair Competition Act - UCA) ถือว่าเป็นการฉกฉวยความได้เปรียบทางธุรกิจกับผู้ประกอบการอื่นๆที่ปฏิบัติตามกฎหมายลิขสิทธิ์ โดยทั้งสองบริษัทเป็นบริษัทสิ่งทอในจีนและอินเดียชื่อ Ningbo Beyond Home Textile และ Pratibha Syntex ตามลำดับ โดยในการยื่นคำร้องต่อศาลในครั้งนี้ นางคามาล่า แฮริส อัยการรัฐแคลิฟอร์เนีย ได้กล่าวโทษว่าทั้งสองบริษัทสิ่งทอที่ได้ส่งสินค้ามาขายในรัฐแคลิฟอร์เนีย มีต้นทุนการผลิตที่ต่ำกว่าผู้ประกอบการรายอื่นๆอย่างไม่เป็นธรรมจากการที่ได้ลักลอบใช้ซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์ของบริษัท อะโดบี ไมโครซอฟท์ และไซแมนเทค ซึ่งเป็นที่คาดการว่าศาลอาจจะมีคำสั่งปรับเงินบริษัทดังกล่าว ซึ่งคล้ายกับกรณีของ ณรงค์ซีฟูด บริษัทผลิตกุ้งแช่แข็งจากประเทศไทยที่ถูกสั่งปรับเป็นเงิน 10,000 เหรียญสหรัฐฯ โดยศาลรัฐแมสซาชูเซตส์ในข้อหาเดียวกันเมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว


“บริษัทที่ส่งสินค้ามาขายในสหรัฐอเมริกาพึงตระหนักถึงโทษภัยของการใช้ซอฟต์แวร์ผิดกฎหมายในการประกอบธุรกิจ เพราะกฎหมายว่าด้วยการแข่งขันทางธุรกิจที่ไม่เป็นธรรมมีผลบังคับใช้แล้วในมลรัฐส่วนใหญ่ของสหรัฐฯ ความจริงที่แน่นอนที่สุดก็คือการละเมิดลิขสิทธิ์เทคโนโลยีสาระสนเทศเพื่อประหยัดต้นทุนนั้นไม่คุ้มค่าเป็นอย่างยิ่ง เพราะท่านต้องเสี่ยงกับการสูญเสียโอกาสในการค้ากับสหรัฐฯซึ่งเป็นตลาดการค้าขนาดใหญ่ที่สุดของโลก” มร.ไมเคิล มัดด์ เลขาธิการ Open Computing Alliance ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก กล่าว

กฎหมาย UCA กำลังเป็นประเด็นที่ถกกันอย่างกว้างขวางในกลุ่มของนักกฎหมายและแวดวงการค้าทั่วโลก หลายฝ่ายเชื่อว่าการบังคับใช้กฎหมาย UCA จะเกิดขึ้นอย่างจริงจังเพื่อสร้างความยุติธรรมในการแข่งขันระหว่างผู้ผลิตจากทั่วโลกและผู้ผลิตในสหรัฐฯ เนื่องจากแรงกดดันด้านเศรษฐกิจที่ตกต่ำในสหรัฐฯ และความพยายามของรัฐบาลกลางที่จะกระตุ้นอัตราการจ้างงาน การยื่นคำร้องต่อศาลรัฐแคลิฟอร์เนียครั้งนี้มีนัยสำคัญ เนื่องจากรัฐแคลิฟอร์เนียมีขนาดของเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับหนึ่งของสหรัฐฯ โดยมีมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศสูงถึง 1.9 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ถือเป็นร้อยละ 13 ของทั้งประเทศ โดยเมื่อเทียบกับขนาดเศรษฐกิจของประเทศในภูมิภาคเอเซียแปซิฟิกแล้ว รัฐแคลิฟอร์เนียมีขนาดของ เศรษฐกิจเป็นรองเพียงประเทศจีนและญี่ปุ่นเท่านั้น สำหรับประเทศไทยนั้นธุรกิจสิ่งทอถือเป็นภาคอุตสาหกรรมการผลิตอันดับสองของประเทศที่มีการส่งออกไปยังสหรัฐฯ ในขณะที่รัฐแคลิฟอร์เนียนับว่าเป็นตลาดส่งออกสำคัญสำหรับประเทศไทยและประเทศอื่น ๆ ในอาเซียน

มร. ไมเคิล มัดด์ ยังกล่าวเสริมอีกว่า OCA จะร่วมมือทั้งภาครัฐและเอกชนของไทยเพื่อทำการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ ให้ผู้ประกอบการและสาธารณะชนได้รับรู้ถึงการบังคับใช้กฏหมายว่าด้วยการแข่งขันทางธุรกิจที่ไม่เป็นธรรม โดย OCA จะให้การสนับสนุนในทุก ๆ ทางแก่ผู้ประกอบการให้สามารถเข้าถึงทรัพยากรด้านเทคโนโลยีสารสนเทศที่เหมาะสม และระบบการตรวจสอบสินทรัพย์ซอฟต์แวร์ (Software Asset) ภายในองค์กร เพื่อให้รักษาความสามารถในการแข่งขัน และรักษาส่วนแบ่งตลาดในสหรัฐฯได้ต่อไป

“ในฐานะผู้บังคับใช้กฎหมาย โดยเฉพาะในเรื่องการละเมิดลิขสิทธิ์ ผมรู้สึกเป็นห่วงผู้ประกอบการไทย รวมถึงผู้ประกอบการต่างชาติที่มีฐานการผลิตอยู่ในประเทศไทย เพราะกฎหมายฉบับนี้กำหนดให้ผู้นำเข้าสินค้าในสหรัฐฯ ซื้อแต่สินค้าที่ผลิตจากผู้ผลิตหรือผู้จัดหาวัตถุดิบที่ปฏิบัติสอดคล้องตามกฎหมายฉบับนี้เท่านั้น ดังนั้น องค์กรธุรกิจจึงต้องมีการเตรียมความพร้อมในการตรวจสอบระบบเทคโนโลยีสารสนเทศภายในองค์กรให้เป็นไปตามข้อบังคับของกฎหมาย ซึ่งผู้ประกอบการเพียงแต่ปฏิบัติตามกฎหมายด้านทรัพย์สินทางปัญญาของประเทศไทย ก็เพียงพอที่จะปกป้องธุรกิจจากการบังคับใช้กฎหมายนี้” พ.ต.อ. ชัยณรงค์ เจริญไชยเนาว์ รองผู้บังคับการกองบังคับการปราบปรามความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ กล่าว

มร. ไมเคิล มัดด์ กล่าวเสริมว่า OCA มีโครงการที่จะเผยแพร่ให้ภาคธุรกิจและสาธารณะชนได้ตระหนักรับรู้ถึงเนื้อหาและการบังคับใช้กฎหมาย UCA อีกทั้งยังจะให้ความสนับสนุนให้ภาคธุรกิจได้มีโอกาสเข้าถึงเครื่องมือที่ใช้ในการตรวจสอบและประเมินความพร้อมในเรื่องใบอนุญาติการใช้ซอฟต์แวร์ ซึ่งโครงการดังกล่าวเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับนโยบายของทางรัฐบาลไทย ที่จะทำให้ปี 2556 นี้เป็น “ปีแห่งสิทธิด้านทรัพย์สินทางปัญญา” ซึ่งมีเป้าหมายที่จะกระตุ้นให้ประชาชนทั่วไปหยุดการสนับสนุนสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์

Share this post

Submit to FacebookSubmit to TwitterSubmit to LinkedIn