เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2557 ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ตำรวจ บก.ปอศ. เผยองค์กรธุรกิจที่ถูกดำเนินคดีข้อหาใช้ซอฟต์แวร์ผิดกฎหมายและไม่มีไลเซ้นต์ปีนี้ โดยเฉลี่ยมีรายได้ต่อปี 235 ล้านบาท ย้ำองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่ยังคงละเมิดกฎหมายลิขสิทธิ์ที่คุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาด้านซอฟต์แวร์อย่างต่อเนื่อง...
องค์กรธุรกิจในอุตสาหกรรมการผลิตและการก่อสร้าง อยู่ในกลุ่มที่มีรายงานการใช้ซอฟต์แวร์ผิดกฎหมายและไม่มีไลเซ้นต์มากที่สุด ตั้งแต่ต้นปี 2557 เป็นต้นมา เจ้าหน้าที่ตำรวจได้เข้าตรวจค้นองค์กรธุรกิจไปแล้ว 158 แห่ง พบซอฟต์แวร์ที่ถูกละเมิดลิขสิทธิ์ติดตั้งในคอมพิวเตอร์รวมทั้งหมด 1,800 เครื่อง องค์กรธุรกิจเหล่านี้ละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ คิดเป็นมูลค่าของซอฟต์แวร์โดยเฉลี่ยราว 2.4 ล้านบาท
“สถิติดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าองค์กรธุรกิจไทยจำเป็นต้องมีการปรับปรุงธรรมาภิบาลด้านเทคโนโลยีสารสนเทศอย่างจริงจัง เพื่อให้แน่ใจว่าใช้ซอฟต์แวร์ถูกกฎหมายและมีไลเซ้นต์เท่านั้น” พ.ต.อ. กิตติ สะเภาทอง รองผู้บังคับการกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (บก.ปอศ.) กล่าว พร้อมเสริมว่าซอฟต์แวร์ที่สร้างสรรค์โดยนักพัฒนาชาวไทยถูกละเมิดลิขสิทธิ์ด้วยเช่นกัน คิดเป็นสัดส่วนราวร้อยละ 15 ของซอฟต์แวร์ที่ถูกละเมิดลิขสิทธิ์ที่พบจากการเข้าตรวจค้นทั้งหมด
“เจ้าหน้าที่ตำรวจจะเดินหน้าปฏิบัติตามหน้าที่เพื่อขยายผลจากเบาะแสทั้งหมดที่ได้รับเกี่ยวกับการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา องค์กรธุรกิจทุกแห่งควรปฏิบัติตามกฎหมายเพื่อการแข่งขันทางการค้าที่เป็นธรรม และการเอาเปรียบกันทางธุรกิจด้วยการใช้วิธีที่ผิดกฎหมายในการดำเนินธุรกิจเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้”
เจ้าหน้าที่ตำรวจ บก.ปอศ. ขอให้ผู้นำองค์กรธุรกิจตรวจสอบการใช้ซอฟต์แวร์เพื่อให้แน่ใจว่าไม่มีซอฟต์แวร์ผิดกฎหมายหรือไม่มีไลเซ้นต์อนุญาตให้ใช้ในสถานประกอบการพร้อมระบุว่าการแก้ปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ในองค์กรธุรกิจ จำเป็นต้องได้รับความร่วมมืออย่างจริงจังจากผู้บริหารเช่นเดียวกับการที่ผู้บริหารจริงจังกับความเสี่ยงอื่นๆ ขององค์กร
“เราขอให้ภาคธุรกิจดำเนินการเชิงรุกในการบริหารจัดการสินทรัพย์ซอฟต์แวร์ที่ใช้อยู่ ผู้บริหารควรทราบดีว่าพวกเขาใช้ซอฟต์แวร์อะไรอยู่และต้องกำจัดซอฟต์แวร์ที่ผิดกฎหมายและไม่มีไลเซ้นต์ออกจากธุรกิจของพวกเขา” พ.ต.อ. กิตติ กล่าว
“เราเชื่อว่ามีองค์กรธุรกิจหลายพันแห่งที่ใช้ซอฟต์แวร์ผิดกฎหมายและไม่มีไลเซ้นต์ และปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์กำลังส่งผลกระทบต่อประเทศไทยในเวทีโลก ด้านชื่อเสียง การค้า การลงทุน และมาตรฐานความปลอดภัยของระบบคอมพิวเตอร์ ถือเป็นปัญหาที่เราจำเป็นต้องร่วมมือกับผู้นำองค์กรธุรกิจในการแก้ไขให้สำเร็จลุล่วง”
การเข้าตรวจค้นและดำเนินคดีกับองค์กรธุรกิจที่ละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ในปี 2557 เจ้าหน้าที่ตำรวจพบว่ามีจำนวนซอฟต์แวร์ผิดกฎหมายและไม่มีไลเซ้นต์จำนวนมากในการทำงาน อาทิ บริษัทก่อสร้างแห่งหนึ่งที่ถูกจับดำเนินคดีข้อหาใช้ซอฟต์แวร์ของออโตเดสก์ (Autodesk) โดยไม่มีไลเซ้นต์ คิดเป็นมูลค่าของซอฟต์แวร์ราว 15 ล้านบาท ขณะที่บริษัทที่ปรึกษาด้านวิศวกรรมแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ ใช้ซอฟต์แวร์ของออโตเดสก์โดยไม่มีไลเซ้นต์ คิดเป็นมูลค่าของซอฟต์แวร์ราว 11 ล้านบาท รวมถึงบริษัทผู้ผลิตแม่พิมพ์ร่วมทุนไทย-จีนในสมุทรปราการ ซึ่งถูกดำเนินคดีข้อหาใช้ซอฟต์แวร์โดยไม่มีไลเซ้นต์ของออโตเดสก์ ไมโครซอฟท์ (Microsoft) ซีเมนส์ พีแอลเอ็ม (Siemens PLM Software) และไทยซอฟต์แวร์เอ็นเตอร์ไพรส์ (Thai Software Enterprise) รวมมูลค่าของซอฟต์แวร์ทั้งสิ้นราว 10.8 ล้านบาท
จนถึงวันนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจได้เข้าตรวจค้นและดำเนินคดีกับองค์กรธุรกิจที่ละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ไปแล้วในหลายจังหวัดทั่วประเทศ ได้แก่ ปทุมธานี นครปฐม ชลบุรี นนทบุรี สุพรรณบุรี เชียงใหม่ เพชรบุรี กรุงเทพฯ สมุทรสาคร สมุทรปราการ ระยอง ฉะเชิงเทรา พระนครศรีอยุธยา พิษณุโลก นครราชสีมา ภูเก็ต และกระบี่
-
ตำรวจ บก.ปอศ. เข้าตรวจค้นบุกจับ 20 บริษัทใช้ซอฟต์แวร์ผิดกฎหมาย< ก่อนหน้า
-
บริษัทก่อสร้างสัญชาติอเมริกันถูกตรวจค้นการละเมิดลิขสิทธิ์ต่อไป >