“ณรงค์ซีฟูด” เปิดใจกรณีการปิดคดี UCA คดีแรกของโลก ตกลงยอมความจ่ายค่าปรับ 10,000 เหรียญ ให้อัยการรัฐแมสซาชูเซตส์ เปิดทางส่งออกกุ้งไทยสดใสในสหรัฐฯ ติลลิกีแอนด์กิบบินส์ยกณรงค์ซีฟูดเป็นกรณีตัวอย่าง หากมีเคส UCA กับบริษัทไทยอีก ด้าน บก.ปอศ. หวังกฎหมาย UCA ช่วยลดอัตราการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ในประเทศ
“เรามองว่าการที่เราสามารถบรรลุข้อตกลงในครั้งนี้ได้อย่างรวดเร็วเป็นสิ่งที่สำคัญ ในการที่จะสามารถทำธุรกิจกับสหรัฐอเมริกาต่อไปได้อย่างไม่ติดขัด การปฎิบัติตามกรอบของกฎหมายเป็นหัวใจสำคัญในการรักษาฐานลูกค้าในสหรัฐฯ รวมทั้งพนักงานในองค์กร และในการสร้างความเจริญเติบโตของธุรกิจในระยะยาว เรามีความยินดีที่สามารถบรรลุข้อตกลงกับอัยการสูงสุดได้ในครั้งนี้ และข้อตกลงดังกล่าวยังเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นว่าเราปฎิบัติภายใต้กรอบของกฎหมายอย่างเคร่งครัด” นายอาทร พิบูลธนพัฒนา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท ณรงค์ซีฟูด จำกัด กล่าว
เมื่อไม่นานมานี้ สำนักงานอัยการสูงสุดของรัฐแมสซาชูเซตส์ได้ประกาศว่า สามารถบรรลุข้อตกลงในคดีความว่าด้วยการบังคับใช้กฎหมายการแข่งขันทางธุรกิจที่ไม่เป็นธรรม (Unfair Competition Act – UCA) กับบริษัท ณรงค์ซีฟูด จำกัด โดยบริษัทตกลงที่จะจ่ายค่าปรับจำนวน 10,000 เหรียญสหรัฐฯ ในฐานที่ได้เคยใช้ผลิตภัณฑ์ซอฟต์แวร์ที่ผิดกฎหมายในการผลิตและส่งออกอาหารทะเลแช่แข็งไปยังสหรัฐฯ นอกจากนี้บริษัทได้ผ่านขั้นตอนการตรวจสอบระบบเทคโนโลยีสารสนเทศภายในองค์กรเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เพื่อให้แน่ใจได้ว่าสามารถประกอบธุรกิจภายใต้พระราชบัญญัติสิขสิทธิ์ของไทย โดยในปัจจุบันบริษัทได้เปลี่ยนมาใช้ซอฟต์แวร์ที่มีใบอนุญาตถูกต้องทั้งหมด “เมื่อเราได้รับการติดต่อจากอัยการสูงสุดของรัฐแมสซาชูเซตส์ในเรื่องคดีความที่เกิดขึ้น บริษัท ณรงค์ซีฟูดได้เร่งดำเนินการในการปรับปรุงระบบเทคโนโลยีสารสนเทศอย่างทันท่วงที เพื่อป้องกันผลกระทบต่อธุรกิจของเรา” นายอาทร กล่าว
“การบรรลุข้อตกลงในครั้งนี้จะทำให้บริษัท ณรงค์ซีฟูด เกิดความได้เปรียบทางการค้าเหนือคู่แข่งในประเทศอื่นๆ ที่มีอัตราการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์สูงกว่าในประเทศไทย และทำให้บริษัทคู่ค้าในสหรัฐฯ มีความมั่นใจและอยากทำธุรกิจกับเรามากขึ้น เพราะเราเป็นบริษัทที่ปฎิบัติตามกฎหมายดังกล่าวอย่างเคร่งครัด” นายอาทร กล่าวเสริม
บริษัท ณรงค์ซีฟูด ได้ใช้ความพยายามที่จะปรับตัวให้เข้ากับกฎหมาย UCA ได้อย่างทันท่วงที เพื่อให้การดำเนินธุรกิจของบริษัทสามารถดำเนินต่อไปได้อย่างไม่สะดุด บริษัท ณรงค์ซีฟูด ยังได้เปิดให้มีการตรวจสอบภายในทุกหน่วยงานของบริษัท เพื่อแสดงให้เห็นถึงการดำเนินงานที่สอดคล้องทางด้านมนุษยธรรมและสิ่งแวดล้อมที่ตรงตามมาตรฐานของนานาชาติ “นี่เป็นคดีแรกของโลกที่อัยการสูงสุดประจำมลรัฐ ได้ดำเนินการตามกฎหมายในคดีการแข่งขันทางธุรกิจที่ไม่เป็นธรรมกับบริษัทต่างชาติ และยังได้บรรลุข้อตกลงความร่วมมือว่าด้วยเจตจำนงค์ที่จะใช้เทคโนโลยีสารสนเทศที่ถูกกฎหมายในการดำเนินธุรกิจในทุกขั้นตอน” นางสาววิรามฤดี โมกขะเวส ที่ปรึกษาด้านกฎหมาย บริษัท ติลลิกีแอนด์กิบบินส์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด กล่าว
กรณีดังกล่าวที่เกิดขึ้นเป็นผลมาจากการที่ฝ่ายนิติบัญญัติและหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องของสหรัฐฯ ได้สร้างแรงกดดันกับทุกฝ่ายเพื่อร่วมกันสร้างความเป็นธรรมในการแข่งขันทางธุรกิจกับผู้ประกอบการทั้งในและนอกสหรัฐฯ ความพยายามที่เกิดขึ้นในสหรัฐฯ ที่จะลดอัตราการละเมิดลิขสิทธิ์ของเทคโนโลยีสารสนเทศเป็นสิ่งที่สอดคล้องกับความพยายามที่จะบังคับใช้กฎหมายของหน่วยงานราชการในประเทศไทย รวมถึง กรมทรัพย์สินทางปัญญา และกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (บก.ปอศ.) ซึ่งมีวิสัยทัศน์ว่าการทรัพย์สินทางปัญญาถือเป็นภัยคุกความต่อความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ในการพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ และความสามารถในการแข่งขันของผู้ผลิตและผู้ส่งออกในประเทศไทย
“ความจริงที่ว่าอัยการรัฐแมสซาชูเซตส์ได้บังคับใช้กฎหมายโดยตรงกับบริษัทที่ประกอบธุรกิจอยู่ในประเทศไทย ทำให้ผู้ประกอบการรายอื่นจำเป็นต้องหันมาใช้เทคโนโลยีสารสนเทศที่ถูกกฎหมายด้วยเช่นกัน การบรรลุข้อตกลงกับอัยการสูงสุดในครั้งนี้ถือเป็นการตัดสินใจทางธุรกิจที่ถูกต้องและทันท่วงที ถือเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับผู้ผลิตและผู้ส่งออกรายอื่นสามารถนำไปปฏิบัติ เพื่อมิให้ไม่มีปัญหาในการส่งออกไปยังตลาดสหรัฐฯ” นางสาววิรามฤดี กล่าวเสริม
ผู้ผลิตและผู้ส่งออกในประเทศไทยควรเร่งปรับตัวในการทำธุรกิจโดยหันมาใช้ซอฟต์แวร์ที่ถูกกฎหมาย เพราะว่ากฎหมาย UCA ได้กำหนดบทลงโทษอย่างชัดเจนต่อบริษัทที่ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศละเมิดลิขสิทธิ์ในการผลิตและส่งออกสินค้าไปยังสหรัฐฯ
“ผู้ประกอบการธุรกิจในประเทศไทยสามารถรักษาผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้น พนักงานในองค์กร และรักษาความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยการปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยลิขสิทธิ์ของไทยก็เพียงพอแล้วที่จะปกป้องธุรกิจไม่ให้ได้รับผลกระทบจากการบังคับใช้กฎหมาย UCA ในสหรัฐฯ” พ.ต.อ ชัยณรงค์ เจริญไชยเนาว์ รองผู้บังคับการ บก.ปอศ. กล่าว
“ประเทศไทยเป็นผู้นำในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกในเรื่องการปกป้องสิทธิทรัพย์สินทางปัญญา การละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ในประเทศไทยมีอัตราลดลงอย่างรวดเร็วอยู่ในระดับแถวหน้าของภูมิภาค ผมมองว่าด้วยแรงหนุนจากการบังคับใช้กฎหมาย UCA ในสหรัฐฯ จะทำให้สามารถลดอัตราการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ลงได้อีก และประเทศไทยจะยังคงรักษาสถานะความเป็นประเทศคู่ค้าที่ดีทั้งต่อสหรัฐฯและประเทศอื่นๆทั่วโลก”
และเพื่อเป็นกรณีศึกษา ทาง บก.ปอศ. ได้มอบโล่ห์เชิดชูเกียรติ ณรงค์ซีฟู้ด เป็นบริษัทตัวอย่างด้านจริยะธรรมธุรกิจอีกด้วย
เกี่ยวกับณรงค์ซีฟูด ณรงค์ซีฟู้ด
มีสำนักงานใหญ่ที่จังหวัดสมุทรสาคร มีโรงงานผลิตอาหารทะเลแช่แข็ง 2 แห่งด้วยกัน ซึ่งตั้งอยู่ที่จังหวัดสมุทรสาคร และจังหวัดสงขลา (หาดใหญ่) มีผลิตภัณฑ์อาหารทะเลแปรรูปส่งออกหลากหลายชนิด ประกอบด้วย กุ้ง ปลา และปลาหมึก โดยมีตลาดหลักอยู่ที่ประเทศญี่ปุ่น สหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ณรงค์ซีฟูดยังคงรักษาการดำเนินธุรกิจแบบครอบครัว แต่ก็ไม่หยุดยั้งที่จะพัฒนาการดำเนินงานแบบสมัยใหม่เพื่อสร้างโอกาสในการแข่งขันในเวทีโลก
เกี่ยวกับกฏหมายว่าด้วยการแข่งขันทางธุรกิจที่ไม่เป็นธรรม (UCA)
กฏหมายว่าด้วยการแข่งขันทางธุรกิจที่ไม่เป็นธรรมกำหนดให้ ผู้ผลิตและผู้ส่งออกสินค้าไปยังสหรัฐฯใช้ผลิตภัณฑ์เทคโนโลยีสารสนเทศที่ถูกกฏหมายเท่านั้นในทุกขั้นตอนของการทำธุรกิจ และยังมีการกำหนดว่าผู้นำเข้าในสหรัฐฯจะต้องทบทวนสถานะของของคู่ค้าของตนว่าเป็นผู้ที่ปฏิบัติตามข้อกำหนดดังกล่าวแล้วหรือไม่ ทั้งนี้เพื่อให้เกิดการทำธุรกิจที่เป็นธรรม กฏหมาย UCA จะช่วยเสริมความเข้มแข็งในการปกป้องทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งในความเป็นจริงแล้วผู้ประกอบการที่มิได้ละเมิดลิขสิทธิ์เทคโนโลยีสาระสนเทศไม่จำเป็นต้องวิตกกังวลใดๆ ต่อผลกระทบที่จะเกิดขึ้น ในทางตรงกันข้ามผู้ประกอบการเหล่านั้นน่าจะเป็นผู้ที่ได้รับผลประโยชน์จากกฏหมายข้อนี้มากกว่า
-
บก.ปอศ. โชว์ปราบซอฟต์แวร์เถื่อน ตั้งเป้าลดละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์เหลือ...< ก่อนหน้า
-
...ต่อไป >