กระตุ้นส่งออกไทยใช้ซอฟต์แวร์แท้สร้างโอกาสทางการค้าภายใต้กฎหมาย UCA

ดาวไม่ได้ใช้งานดาวไม่ได้ใช้งานดาวไม่ได้ใช้งานดาวไม่ได้ใช้งานดาวไม่ได้ใช้งาน
 

เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา มีกฎหมายว่าด้วยการแข่งขันทางธุรกิจที่ไม่เป็นธรรม (Unfair Competition Act – UCA) เกิดขึ้น ที่มีผลบังคับใช้แล้วในสหรัฐอเมริกาจะเป็นตัวกระตุ้นให้ผู้ผลิตและผู้ส่งออกสินค้าไปยังสหรัฐฯ จำเป็นต้องใช้ผลิตภัณฑ์เทคโนโลยีสารสนเทศที่ถูกกฎหมายในการผลิตและดำเนินธุรกิจในทุกขั้นตอน โดยการละเว้นกฎหมายอาจส่งผลให้สูญเสียโอกาสในการทำการตลาดและอาจถูกเรียกร้องค่าเสียหายจากคู่แข่งทางการค้ารายอื่นๆ ที่ปฏิบัติตามกรอบของกฎหมาย UCA ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน

กรมส่งเสริมการส่งออก ร่วมกับกรมทรัพย์สินทางปัญญา สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทย จัดงานสัมมนา UCA กับการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ส่งออกไทย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างการรับรู้ในเรื่องกฎหมาย UCA ซึ่งจะมีผลกระทบโดยตรงต่อผู้ผลิตและผู้ส่งออกในประเทศไทย ซึ่งทุกฝ่ายเชื่อว่าผู้ประกอบการจะต้องปรับตัวให้เข้ากับข้อกำหนดในเรื่องลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ อันจะเป็นการสร้างโอกาสและความได้เปรียบเหนือคู่แข่งในการทำธุรกิจการค้ากับสหรัฐอเมริกา

 

“กฎหมาย UCA ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อเร็วๆ นี้ จะส่งผลให้ผู้ผลิตและผู้ส่งออกที่ละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ต้องสูญเสียโอกาสในการทำธุรกิจ และในขณะเดียวกันผู้ประกอบการที่ใช้ซอฟต์แวร์ที่ถูกต้องตามกฎหมายในการประกอบธุรกิจจะได้รับโอกาสที่เหนือกว่าในการส่งสินค้าไปขายในสหรัฐฯ” นายสมพร มณีรัตนกุล นายกสมาคมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทย กล่าว

กฎหมาย UCA กำลังเป็นประเด็นที่ถกกันอย่างกว้างขวางในกลุ่มของนักกฎหมายและแวดวงการค้าทั่วโลก โดยเฉพาะในแง่ของผลกระทบต่อผู้ผลิตและผู้ส่งออก โดยกฎหมายดังกล่าวกำลังอยู่ในช่วงของการประชาสัมพันธ์เผยแพร่ให้เป็นที่รับรู้โดยทั่วไป แต่เนื่องจากแรงกดดันด้านเศรษฐกิจที่ตกต่ำในสหรัฐฯ และความพยายามของรัฐบาลกลางที่จะกระตุ้นอัตราการจ้างงาน ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายเชื่อว่า การบังคับใช้กฎหมาย UCA จะเกิดขึ้นอย่างจริงจัง เพื่อสร้างความยุติธรรมในการแข่งขันระหว่างผู้ผลิตจากทั่วโลกและผู้ผลิตในสหรัฐฯ โดยประธานาธิบดี บารัค โอบามา ประกาศเป็นวาระแห่งชาติเมื่อวันที่ 24 มกราคมที่ผ่านมา ว่าจะมีการตั้งหน่วยงานกลางพิเศษเพื่อสืบค้นและดำเนินคดีกับแนวทางการค้าที่ไม่ยุติธรรมทุกประเภท

"ประเทศไทยถือว่าเป็นประเทศผู้ส่งออกชั้นนำของโลก เราจึงไม่ต้องการให้ปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ กลายเป็นอุปสรรคต่อกิจกรรมการส่งออกของประเทศ ดังนั้นเราจึงขอความร่วมมือให้ผู้ผลิตและผู้ส่งออกหันมาใช้ซอฟต์แวร์ที่ถูกกฎหมายในทุกขั้นตอนของการประกอบธุรกิจ เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าตลาดส่งออกของไทยในสหรัฐฯ จะเติบโตต่อไปภายใต้กรอบของกฎหมายใหม่ที่มีผลบังคับใช้แล้ว,” นายบัณฑูร วงศ์สีลโชติ ประธานคณะกรรมการประเด็นทางการค้า สภาหอการค้าไทย กล่าว

อัตราการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ในประเทศไทยได้ลดลงจากประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์ในปี 2549 มาอยู่ที่ประมาณ 73 เปอร์เซ็นต์ในปีปัจจุบัน ซึ่งเป็นอัตราการลดลงเร็วที่สุดเป็นอันดับ 2 ในเอเชียแปซิฟิก เป็นรองเพียงประเทศฮ่องกงเท่านั้น ซึ่งเป็นผลมาจากความร่วมมือของสำนักงานตำรวจแห่งชาติและหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องในการปราบปรามการละเมิดลิขสิทธิ์และส่งเสริมการรับรู้ของสาธารณชนในเรื่องการเคารพสิทธิด้านทรัพย์สินทางปัญญาเป็นอย่างดี

“กฎหมาย UCA จะส่งเสริมความได้เปรียบทางการค้าให้กับผู้ผลิตและผู้ส่งออกที่ใช้ซอฟต์แวร์ที่ถูกกฎหมายในการทำธุรกิจ ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว บริษัทใดก็ตามที่ปฏิบัติตามกฎหมาย ว่าด้วยทรัพย์สินทางปัญญาของประเทศไทยก็ถือว่าได้กระทำการอย่างพอเพียงแล้วที่จะอยู่ภายใต้กรอบกฎหมาย UCA และจะได้รับประโยชน์ในการแข่งขันทางธุรกิจและได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ” นางสาววิรามฤดี โมกขะเวส ที่ปรึกษาด้านกฎหมาย บริษัท ติลลิกีแอนด์กิบบินส์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด กล่าว

กฎหมายการแข่งขันทางธุรกิจที่ไม่เป็นธรรม กำหนดให้ผู้ส่งออกสินค้าไปยังสหรัฐฯต้องใช้แต่เทคโนโลยีสารสนเทศ ไม่ว่าจะเป็นซอฟต์แวร์หรือฮาร์ดแวร์ของแท้ในการดำเนินกิจกรรมเชิงพาณิชย์ กฎหมายฉบับนี้ยังกำหนดให้ผู้นำเข้าสินค้าในประเทศสหรัฐอเมริกา ซื้อแต่สินค้าที่ผลิตจากผู้ผลิตหรือผู้จัดหาวัตถุดิบที่ปฏิบัติสอดคล้องตามกฎหมายฉบับนี้เท่านั้น มิฉะนั้นอาจเสี่ยงต่อการถูกยึดหรือปลดจากชั้นวาง และอาจถูกฟ้องร้องในข้อหาแข่งขันอย่างไม่เป็นธรรมได้ ดังนั้น องค์กรธุรกิจจึงต้องมีการเตรียมความพร้อมในการตรวจสอบระบบเทคโนโลยีสารสนเทศภายในองค์กรให้เป็นไปตามข้อบังคับของกฎหมาย โดยอาจจะว่าจ้างที่ปรึกษาด้านระบบสารสนเทศ และขอความสนับสนุนจากบริษัทผู้ผลิตและจำหน่ายซอฟต์แวร์

“ประเทศไทยถือว่ามีโอกาสทางการค้าที่มากกว่าประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ซึ่งยังมีอัตราการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์สูงกว่าไทย ดังนั้น แทนที่ผู้ประกอบการในประเทศไทยจะมองว่ากฎหมาย UCA เป็นอุปสรรค แต่ในความเป็นจริงแล้ว ผู้ผลิตและผู้ส่งออกสามารถสร้างโอกาสและความได้เปรียบทางการค้าที่เพิ่มสูงขึ้นด้วยซ้ำ” นายสมพร กล่าวเสริม

Share this post

Submit to FacebookSubmit to TwitterSubmit to LinkedIn