เมื่อวันที่ 6 มีนาคมที่ผ่านมา สำนักงานตำรวจแห่งชาติกำลังเร่งตรวจสอบและปราบปรามธุรกิจจำหน่ายซอฟต์แวร์เถื่อนตามศูนย์การค้าไอทีและห้างสรรพสินค้าทั่วประเทศ หลังจากพบซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์ระบาดอย่างหนัก โดยผู้ขายลักลอบลงโปรแกรมเถื่อนให้ลูกค้าในราคาตั้งแต่ 200 ถึง 500 บาท ซึ่งสร้างความเสียหายให้กับอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์และต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ
กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ หรือ บก.ปอศ. ได้ใช้ความพยายามมาโดยตลอดที่จะลดอัตราการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ที่มาพร้อมกับการค้าปลีกอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ โดยเฉพาะในศูนย์การค้าด้านไอที ที่มีการให้บริการลงโปรแกรมละเมิดลิขสิทธิ์กันอย่างไม่เกรงกลัวต่อกฎหมาย ในช่วงวันที่ 16-17 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ตำรวจได้ทำการตรวจค้นตาม 2 ห้างไอทีดังกลางกรุง โดยพบของกลางเป็นเครื่องคอมพิวเตอร์ยี่ห้อ ACER จำนวน 4 เครื่อง SAMSUNG จำนวน 2 เครื่อง และ ASUS จำนวน 1 เครื่อง ที่ถูกติดตั้งด้วยโปรแกรมผิดกฎหมาย
บก.ปอศ. เปิดเผยว่า ในช่วงเดือนกันยายน ถึงเดือนตุลาคมปีที่ผ่านมา มีการบุกตรวจค้นถึง 28 ครั้ง โดยพบเครื่องคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลและคอมพิวเตอร์พกพาที่มีการลงโปรแกรมเถื่อนนับ 1,000 เครื่อง และมีเครื่องคอมพิวเตอร์ 3 ยี่ห้อดังที่มีการจับกุมสูงสุด ได้แก่ ASUS, ACER และ SAMSUNG
“การละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ทำให้ประเทศไทยต้องสูญเสียรายได้จากภาษีอากรในแต่ละปีเป็นจำนวนมหาศาล และยังเป็นการทำลายภาพลักษณ์ของประเทศไทยในสายตาของต่างประเทศ” พ.ต.อ. ชัยณรงค์ เจริญไชยเนาว์ ผู้บังคับการกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ กล่าว
เครื่องคอมพิวเตอร์ส่วนใหญ่ที่นำเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทย จะถูกนำมาเป็นแบบเครื่องเปล่าปราศจากโปรแกรมใดๆ ซึ่งมีผู้ค้าปลีกจำนวนน้อยมากที่จะมีการจำหน่ายเครื่องคอมพิวเตอร์พร้อมการติดตั้งโปรแกรมที่ถูกต้อง ผู้ซื้อโดยมากเลือกที่จะซื้อซอฟต์แวร์เถื่อนในราคา 200-500 บาท เพื่อติดตั้งและนำมาใช้งาน
“ผู้บริโภคมิได้ตระหนักว่า การกระทำดังกล่าวถือเสมือนการเป็นมิจฉาชีพที่ทำการขโมยทรัพย์สินของผู้อื่น ซึ่งบางครั้งซอฟต์แวร์ที่นำไปใช้เป็นการผลิตจากฝีมือของคนไทยด้วยกันนั่นเอง ทั้งนี้ ผู้จำหน่ายซอฟต์แวร์เถื่อนทราบดีว่า เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายและมีบทลงโทษอย่างชัดเจนแต่กลับเพิกเฉยเสีย” พ.ต.อ. ชัยณรงค์ กล่าวเพิ่มเติม
ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2558 ซึ่งเมื่อถึงเวลานั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่ประเทศสมาชิกจะต้องจัดการกับปัญหาการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาได้ดีกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน และในส่วนของ บก.ปอศ. เอง ก็จะมุ่งเน้นในการปราบปรามการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ให้บรรลุตามวัตถุประสงค์
“เครื่องคอมพิวเตอร์เปล่าอาจมีราคาถูกกว่าก็จริง แต่สิ่งที่ผู้บริโภคอาจจะได้กลับมาจากการใช้ซอฟต์แวร์ผิดกฎหมายนั้น คือพวกมัลแวร์และไวรัสต่างๆ ที่มากับโปรแกรมคอมพิวเตอร์เหล่านั้น ทางการใคร่ขอเตือนผู้ขายว่า เราจะมีแผนบุกเข้าตรวจค้นถี่ขึ้น และจากการที่ได้ทำการประชาสัมพันธ์ให้ได้รับรู้ทั่วกันแล้ว ผู้ที่กระทำความผิดจะได้รับการพิจารณาโทษอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้” พ.ต.อ. ชัยณรงค์ กล่าว
เมื่อปีที่ผ่านมา ตำรวจบุกเข้าตรวจค้นซอฟต์แวร์ผิดกฎหมายมูลค่ากว่า 500 ล้านบาท ซึ่งภายใต้พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ ปี พ.ศ. 2537 การละเมิดลิขสิทธิ์โปรแกรมคอมพิวเตอร์ ไม่ว่าจะเป็นการขาย การถือครองเพื่อขาย หรือการนำเสนอขายโปรแกรมเหล่านั้นมีโทษจำคุกไม่เกิน 4 ปี หรือปรับไม่เกิน 800,000 บาท และศาลอาจมีคำสั่งให้ปิดกิจการของผู้กระทำความผิดได้ ประเทศไทยตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะแซงฮ่องกง ขึ้นเป็นอันดับหนึ่งของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ในด้านการลดอัตราการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ลงให้ได้มากที่สุด ตลอดระยะเวลาสี่ปีที่ผ่านมา อัตราการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ในประเทศไทยลดลงอย่างต่อเนื่องจากร้อยละ 80 ในปีพ.ศ. 2549 เหลือร้อยละ 73 ในปีพ.ศ. 2553
-
ตำรวจลงดาบอินเตอร์เน็ตคาเฟ่ใช้ซอฟต์แวร์ผี...< ก่อนหน้า
-
กระตุ้นส่งออกไทยใช้ซอฟต์แวร์แท้สร้างโอกาสทางการค้าภายใต้กฎหมาย UCAต่อไป >