สคบ. ออกโรงเตือนใช้ซอฟต์แวร์เถื่อนเสี่ยงโดนแฮ็กเกอร์ฉกเงินฝาก

ดาวไม่ได้ใช้งานดาวไม่ได้ใช้งานดาวไม่ได้ใช้งานดาวไม่ได้ใช้งานดาวไม่ได้ใช้งาน
 

เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2555 ที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค หรือ สคบ. เตือนผู้บริโภคที่ใช้ซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์มีความเสี่ยงสูงที่จะถูกฉกเงินในบัญชีธนาคาร โดยเฉพาะการทำธุรกรรมการเงินผ่านระบบอินเตอร์เน็ต ซึ่งมีความสะดวกรวดเร็วและกำลังได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก หวั่นผลกระทบเป็นวงกว้างหลังจากพบว่า มีการร้องเรียนเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ทั้งจากผู้ฝากเงินและสถาบันการเงิน

สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ร่วมกับกรมทรัพย์สินทางปัญญา ได้แจ้งเตือนว่าบริการธนาคารออนไลน์ที่ขยายตัวอย่างรวดเร็วในหลายปีที่ผ่านมาอาจก่อให้เกิดความเสี่ยงกับผู้ใช้ซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์ บริการธนาคารทางอินเตอร์เน็ตเป็นแนวโน้มที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในการบริหารจัดการด้านการเงิน แต่การใช้บริการดังกล่าวโดยการใช้ซอฟต์แวร์คอมพิวเตอร์ละเมิดลิขสิทธิ์นั้น ก่อให้เกิดความเสี่ยงเป็นอย่างมากต่อบุคคลทั่วไปและองค์กรธุรกิจต่างๆ

นายจิรชัย มูลทองโร่ย รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคระบุว่า “บริการธนาคารออนไลน์ได้เติบโตอย่างรวดเร็วทั้งในประเทศไทยและในประเทศต่างๆ ทั่วโลก ลูกค้าพบว่าบริการดังกล่าวมีความสะดวกสบายเป็นอย่างมาก แต่ในขณะเดียวกันก็เกิดกรณีการฉ้อโกงผ่านระบบออนไลน์ และที่มากไปกว่านั้น การใช้ซอฟต์แวร์คอมพิวเตอร์ละเมิดลิขสิทธิ์ก็ทำให้ความปลอดภัยของผู้ใช้งานลดลง”

รองเลขาธิการ สคบ. ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า “ผู้กระทำความผิดโดยการฉ้อโกงผ่านระบบออนไลน์ได้พัฒนาวิธีการที่มีความซับซ้อนมากขึ้นเพื่อปลอมบัตรต่างๆที่ออกจากธนาคาร โดยการเจาะเข้าระบบเพื่อดูรหัสผ่าน และหลอกให้เปิดเผยข้อมูลทางด้านการเงิน (phishing) ซึ่งจะก่อให้เกิดความเสี่ยงกับผู้บริโภค แม้ว่าธนาคารและสถาบันการเงินทั้งหลายจะได้ทำการอัพเกรดระบบป้องกันความปลอดภัยของระบบออนไลน์เป็นประจำก็ตาม แต่อาชญากรคอมพิวเตอร์ก็ยังคงมีปริมาณเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน”

ไม่เพียงแต่กรมทรัพย์สินทางปัญญาจะต้องการลดปัญหาการละเมิดสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาที่เกิดขึ้นในประเทศไทยและได้แจ้งเตือนประชาสัมพันธ์แก่ประชาชนทั่วไปถึงความรุนแรงของสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์แล้วนั้น หน่วยงานต่างๆก็ได้ประชาสัมพันธ์ถึงการใช้ซอฟแวร์ลิขสิทธิ์ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการทำธุรกรรมผ่านระบบออนไลน์ด้วย สคบ.และกรมทรัพย์สินทางปัญญา ได้แนะนำให้ผู้บริโภคหลีกเลี่ยงการใช้ซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์โดยเด็ดขาดเพราะนอกจากจะเป็นการละเมิดกฎหมายแล้วผู้บริโภคยังจะทำให้ตัวเองและครอบครัวเสี่ยงต่อการถูกอาชญากรคอมพิวเตอร์หลอกด้วย ทั้งนี้มีความเป็นไปได้ว่าผู้ขายซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์มีเจตนาติดตั้งมัลแวร์บนเครื่องคอมพิวเตอร์ของลูกค้า ซึ่งจะทำให้ผู้ใช้ซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์ไม่ได้รับการอัพเดทระบบรักษาความปลอดภัยอย่างสม่ำเสมอ เพื่อป้องกันคอมพิวเตอร์จากการคุกคามต่างๆ

นางปัจฉิมา ธนสันติ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญากล่าวว่า “แม้ผู้บริโภคจำนวนมากที่จะมีเจตนาซื้อซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์หรือซอฟต์แวร์ผิดกฎหมาย แต่ก็มีผู้บริโภคจำนวนไม่น้อยเช่นกันที่ถูกหลอกให้ซื้อซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์โดยผู้ขายอ้างว่าเป็นซอฟต์แวร์มีลิขสิทธิ์ กรมทรัพย์สินทางปัญญาจึงได้ร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ เพื่อแก้ไขปัญหานี้” นอกจากนี้ สคบ. ยังได้แนะนำวิธีการง่ายๆ หลายวิธีที่จะช่วยเพิ่มระบบรักษาความปลอดภัยของคอมพิวเตอร์ เช่น ตั้งรหัสผ่านที่มีความปลอดภัยสูงซึ่งรหัสดังกล่าวควรประกอบด้วยตัวอักษรและตัวเลข โดยมีการเปลี่ยนรหัสผ่านอย่างน้อยทุกหกเดือน

รองเลขาธิการ สคบ. กล่าวว่า “ผู้บริโภคควรใช้ระบบ Firewalls และทำการติดตั้งซอฟต์แวร์ป้องกันไวรัสเวอร์ชั่นล่าสุด เมื่อลงทะเบียนใช้บริการธนาคารออนไลน์เป็นเรื่องสำคัญเป็นอย่างยิ่งที่ผู้บริโภคจะต้องทราบถึงขั้นตอนในการใช้บริการของธนาคารของผู้บริโภคให้ครบถ้วน และหากไม่แน่ใจจะต้องขอให้ฝ่ายบริการลูกค้าของธนาคารนั้นๆ แสดงวิธีการใช้ที่ถูกต้องให้ทราบ”

อีกทั้ง มีข้อแนะนำด้วยว่าควรต้องล้างประวัติการใช้ระบบ internet browser เป็นประจำ และหากใช้คอมพิวเตอร์ร่วมกับผู้อื่นหรือในร้านคอมพิวเตอร์ก็ควรที่จะต้องลบรหัสผ่านและทำการ log off ออกจากระบบของธนาคารทุกครั้ง นอกจากนี้ สคบ. ได้แจ้งเตือนผู้ใช้บริการธนาคารออนไลน์ให้ระวังจดหมายขยะซึ่งขอรายละเอียดส่วนตัวรวมทั้งหมายเลข PIN และหมายเลขบัญชี ในหลายกรณีพบว่าจดหมายอิเล็กทรอนิกดังกล่าวดูเหมือนเป็นของจริงเนื่องจากใช้ตราสัญลักษณ์ของธนาคารและรูปลักษณะอื่นๆ ที่ดูคล้ายของจริง

รองเลขาธิการ สคบ. กล่าว “การติดต่อจากธนาคารหรือสถาบันการเงินผ่านจดหมายอิเล็กทรอนิกควรจะระบุชื่อเต็มของผู้ใช้ ไม่เช่นนั้นจะมีความเป็นไปได้ว่าจดหมายดังกล่าวเป็นการหลอกให้เปิดเผยข้อมูลทางการเงิน (Phishing) เพื่อขโมยข้อมูลความปลอดภัยเพื่อเจาะเข้าบัญชีของท่าน หากผู้บริโภคมีข้อสงสัย ให้รีบแจ้งธนาคารที่ใช้บริการและห้ามตอบจดหมายฉบับดังกล่าวโดยเด็ดขาด”

Phishing ซึ่งเป็นคำที่มาจากคำว่า Fishing เป็นอันตรายที่เกิดขึ้นทั่วโลกโดยอาชญากรคอมพิวเตอร์จะทำการรวบรวมข้อมูลส่วนบุคคล วิธีการทำ Phishing อาจเป็นการติดต่อสื่อสารทางอิเล็กทรอนิกประเภทต่างๆ เช่นจดหมายอิเล็กทรอนิก การส่งข้อความมายังโทรศัพท์มือถือ และอาชญากรอิเล็กทรอนิกส์จะสามารถกระทำความผิดด้วยวิธีนี้ได้ง่ายขึ้น หากผู้บริโภคใช้ซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์หรือซอฟต์แวร์ผิดกฎหมายซึ่งอาจติดไวรัสมาตั้งแต่แรกหรือจากการใช้อินเตอร์เน็ตตามปกติก็ได้

รายงานการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ของนอร์ตันประจำปี 2554 ระบุว่าในปี 2554 มีผู้ตกเป็นเหยื่อของการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ถึง 431 ล้านรายทั่วโลก นอกจากนี้รายงานดังกล่าวยังระบุว่ามีผู้ตกเป็นเหยื่อการโจมตีดังกล่าวอีกราวหนึ่งล้านคนทุกวัน รองเลขาธิการ สคบ. กล่าวว่า “คนจำนวนมากไม่ตระหนักถึงความร้ายแรงของอาชญกรรมคอมพิวเตอร์ว่ามีมากแค่ไหน และไม่ได้ให้ความระมัดระวังเกี่ยวกับข้อมูลส่วนตัวของตน เว็บไซต์ประเภทโชเชียลเน็ตเวิร์ค เช่น Facebook และ Twitter เติบโตขึ้นเป็นอย่างมากและผู้ใช้ได้แสดงข้อมูลส่วนตัวในเว็บไซต์ดังกล่าวโดยไม่ระวังว่าข้อมูลดังกล่าวจะตกไปอยู่ในเงื้อมมือของอาชญากรคอมพิวเตอร์ได้”

จากการศึกษาพบว่ามีซอฟต์แวร์อันตราย หรือมัลแวร์แอบโหลดไว้ในคอมพิวเตอร์เครื่องใหม่โดยที่ผู้บริโภคไม่ทราบ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา กล่าวว่า “นอกจากนี้ดีวีดีราคาถูกที่มีซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์บรรจุอยู่ ทำให้เจ้าพนักงานยากที่จะควบคุมอาชญากรรมได้ แต่ผู้บริโภคต้องระลึกอยู่เสมอว่าตนกำลังตกอยู่ในความเสี่ยงอย่างใหญ่หลวงจากการใช้ซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์ เนื่องจากผู้บริโภคอาจต้องเสียเงินหลายพันบาทในการดูแลรักษาที่สูงขึ้น ไม่ใช่เพียงไม่กี่ร้อยบาทสำหรับซื้อแผ่นดิสก์ที่ขายที่แผงขายของละเมิดลิขสิทธิ์”

อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาได้เพิ่มข้อสังเกตว่า “ซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์มักจะเป็นสาเหตุที่ทำให้ความสามารถและประสิทธิภาพในการทำงานของคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลเสียไป และนอกจากอันตรายจากการถูกขโมยเงินจากบัญชีธนาคารออนไลน์แล้ว การที่คอมพิวเตอร์ไม่สามารถใช้งานได้หรือการที่เอกสารมีค่าสูญหายไปก็เป็นเหตุผลหลักที่ผู้บริโภคสามารถปฏิเสธการใช้ซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์ได้ อีกทั้งได้กล่าวเตือนด้วยว่าเซิร์ฟเวอร์ของบริษัทอาจถูกโจมตีได้หากมีคนนำซอฟต์แวร์ที่ผิดกฎหมายไปโหลดเก็บไว้”

รองเลขาธิการ สคบ. กล่าวว่า “ผู้บริโภคอาจคิดว่าตัวเองประหยัดเงินหลายพันบาทจากการซื้อซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์ที่มีราคาถูก แต่ผลกระทบในระยะยาวซึ่งอาจเกิดขึ้นกับคนทั่วไปและเศรษฐกิจของประเทศไทยเป็นผลกระทบที่มีความรุนแรงเป็นอย่างมาก สคบ. มีความมุ่งหมายที่จะคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภคทั้งชาวไทยและผู้ที่มาเยี่ยมเยียนประเทศของเรา อย่างไรก็ดี การต่อสู้กับปัญหานี้ จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่ายในการสนับสนุน”

 

Share this post

Submit to FacebookSubmit to TwitterSubmit to LinkedIn