บก.ปอศ. บุกตรวจค้นซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์ใน 91 องค์กรธุรกิจทั่วประเทศในช่วงครึ่งปีแรก มูลค่าความเสียหายกว่า 174 ล้านบาท ตั้งเป้าหมายลดการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์บนเครื่องพีซีในทุกภาคส่วน ลุ้นประเทศไทยหลุดโผ PWL เล็งเป้าหมายไปที่โรงงานกว่า 1,200 แห่ง บริษัทผู้ส่งออก 600 แห่ง รวมทั้งบริษัทรับเหมาก่อสร้างและออกแบบตกแต่ง ประเภทธุรกิจละ 350 แห่ง นอกจากนี้ยังขยายผลไปถึงผู้ซื้อและผู้ขายซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์ทั่วประเทศ
เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2555 ที่ผ่านมา กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (บก.ปอศ.) ภายใต้การกำกับดูแลของกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ประกาศความพร้อมในการปราบปรามการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์บนเครื่องพีซีในปีนี้อย่างต่อเนื่อง เพื่อผลักดันให้ประเทศไทยก้าวขึ้นสู่ความเป็นผู้นำของภูมิภาคในด้านการลดอัตราการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ต่อไป
ในช่วงครึ่งปีแรกที่ผ่านมา บก. ปอศ. ได้ดำเนินคดีกับองค์กรธุรกิจที่มีการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์บนเครื่องพีซีทั้งหมด 91 แห่ง ซึ่งได้ทำการติดตั้งซอฟต์แวร์ผิดกฎหมายลงบนเครื่องคอมพิวเตอร์จำนวน 1,434 เครื่อง คิดเป็นมูลค่าความเสียหายกว่า 174 ล้านบาท โดยเป็นซอฟต์แวร์ลิขสิทธิ์ของบริษัทผู้พัฒนาซอฟต์แวร์ อาทิ ไมโครซอฟท์ ออโต้เดสก์ และไทยซอฟท์แวร์เอ็นเตอร์ไพรส์
พ.ต.อ. ชัยณรงค์ เจริญไชยเนาว์ รองผู้บังคับการ บก. ปอศ. กล่าวว่า "กองบังคับการฯมีนโยบายเร่งปราบปรามการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์บนเครื่องพีซีในภาคธุรกิจ โดยเฉพาะในเขตนิคมอุตสาหกรรมต่างๆทั่วประเทศ ทั้งนี้จะมีการให้ข้อมูลและการทำประชาสัมพันธ์ให้หน่วยงานต่างๆได้ทราบถึงแผนงานปราบปรามและโทษภัยของการใช้ซอฟต์แวร์ผิดกฎหมายในการทำธุรกิจเพื่อเป็นการแจ้งเตือน นอกจากนั้น บก. ปอศ. ยังมีนโยบายปราบปรามการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ไปถึงผู้ค้าปลีกเครื่องและอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ โดยจะเร่งทำการประชาสัมพันธ์ให้สาธารณะชนได้ทราบถึงความเสี่ยงในเรื่องความปลอดภัยของข้อมูลอันเกิดจากการใช้ซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์"
“บก.ปอศ. จะสืบค้นหาหลักฐานและปราบปรามการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์บนเครื่องพีซีในองค์กรธุรกิจอย่างไม่หยุดยั้ง เพื่อให้บรรลุเป้าหมายในการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาในด้านโปรแกรมคอมพิวเตอร์และลดอัตราการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ในประเทศ เราเข้าใจดีว่าการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์บนเครื่องพีซีไม่ใช่อาชญากรรมตามท้องถนนโดยทั่วไป ดังนั้นงานด้านการป้องปรามจึงมีความสำคัญไม่น้อยไปกว่างานด้านการปราบปราม โดยเราหวังว่าองค์กรธุรกิจจะมีการนำเอาหลักการธรรมาภิบาลด้านไอทีมาใช้เป็นแนวทางปฏิบัติกันอย่างแพร่หลายมากขึ้น ทั้งนี้ บก.ปอศ ต้องการกระตุ้นเตือนให้ประชาชนทั่วไปเข้าใจถึงความเสี่ยงในการใช้ซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการทำธุรกรรมทางการเงินผ่านระบบออนไลน์ ซึ่งมีโอกาสที่จะมีผู้ไม่หวังดีมาขโมยข้อมูลส่วนบุคคลไปใช้ และก่อให้เกิดความเสียหายต่อทรัพย์สินดังที่ปรากฎเป็นข่าวเมื่อไม่นานมานี้” พ.ต.อ. ชัยณรงค์ กล่าว
การบุกเข้าตรวจค้นองค์กรธุรกิจโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ถูกตั้งเป้าหมายไปยังกลุ่มอุตสาหกรรมซึ่งมีการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์บนเครื่องพีซีในอัตราที่สูงอย่างเช่น กลุ่มอุตสาหกรรมในภาคการผลิต ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ธุรกิจรับเหมาก่อสร้างและออกแบบตกแต่ง ซึ่ง บก.ปอศ. เล็งเป้าหมายไปที่โรงงานกว่า 1,200 แห่ง บริษัทผู้ส่งออก 600 แห่ง รวมทั้งบริษัทรับเหมาก่อสร้างและออกแบบตกแต่งประเภทธุรกิจละ 350 แห่ง
นอกจากนี้ยังจะขยายผลไปถึงผู้ซื้อและผู้ขายซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์ทั่วประเทศอีกด้วย ประเทศไทยได้ดำเนินการจัดการกับปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์มาได้เป็นอย่างดีในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา โดยจากความร่วมมือของหน่วยงานรัฐและภาคเอกชนทำให้อัตราการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์บนเครื่องพีซีลดลงจาก 80% ในปี 2549 ลงมาเหลือ 72% ในปี 2554 ตามรายงานของ International Data Corporation หรือ ไอดีซี ซึ่งทุกฝ่ายหวังว่าความสำเร็จที่เกิดขึ้นร่วมกันจะทำให้ประเทศไทย สามารถหลุดพ้นจากสถานะประเทศที่ต้องจับตามองเป็นพิเศษ หรือ PWL ตามรายงานของสํานักงานผู้แทนการค้าสหรัฐมาตรา 301 ซึ่งจะมีการประเมินประเทศคู้ค้าแต่ละแห่งเป็นรายปีในเรื่องการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาและแนวทางปฏิบัติว่าด้วยการเข้าถึงตลาด (Market Access Practice) อีกทั้งยังเป็นการเตรียมความพร้อมในการที่ประเทศไทยกำลังจะก้าวไปเป็นส่วนหนึ่งของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2558
“ปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ไม่เพียงส่งผลกระทบต่อบริษัทผู้พัฒนาซอฟต์แวร์ข้ามชาติ แต่ยังกระทบการสร้างสรรค์ซอฟต์แวร์ของไทย อันเป็นอุปสรรคที่สำคัญต่อการส่งเสริมการเติบโตของเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนด้วยนวัตกรรมและการจัดเก็บรายได้ของภาครัฐ” พ.ต.อ. ชัยณรงค์ กล่าว
ภายใต้พ.ร.บ ลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 การละเมิดลิขสิทธิ์โปรแกรมคอมพิวเตอร์มีบทลงโทษทั้งจำและ/หรือปรับ ผู้ที่แจ้งเบาะแสการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ผ่านทางหมายเลขโทรศัพท์ 0-2714-1010 หรือผ่านทางเว็บไซต์ มีสิทธิ์ได้รับเงินรางวัลสูงสุดถึง 250,000 บาท โดยข้อมูลของผู้แจ้งเบาะแสจะถูกเก็บไว้เป็นความลับ ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.stop.in.th
-
สคบ. ออกโรงเตือนใช้ซอฟต์แวร์เถื่อนเสี่ยงโดนแฮ็กเกอร์ฉกเงินฝาก< ก่อนหน้า
-
ตำรวจไทยไม่เลือกหน้า...ต่อไป >