นโยบายป็นกลาง คุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา จะพัฒนาอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ให้ยั่งยืน

ดาวไม่ได้ใช้งานดาวไม่ได้ใช้งานดาวไม่ได้ใช้งานดาวไม่ได้ใช้งานดาวไม่ได้ใช้งาน
 

การสนับสนุนให้เกิดการแข่งขันอย่างเสรีและเป็นธรรม และการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาอย่างจริงจัง เป็นกลไกในการผลักดันให้อุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ของประเทศไทยมีความพร้อมสำหรับการแข่งขันในระดับภูมิภาคและระดับโลก


ในระหว่างการสัมมนาของสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ ซิป้า ที่งานคอมมาร์ทปีนี้ วารุณี  รัชตพัฒนากุล ที่ปรึกษาของกลุ่มพันธมิตรธุรกิจซอฟต์แวร์ หรือบีเอสเอ เน้นการกำหนดและการดำเนินนโยบายที่เป็นกลางของภาครัฐเป็นปัจจัยพื้นฐานหนึ่งที่มีความจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับการเติบโตอย่างยั่งยืนของอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทย

“การส่งเสริมซอฟต์แวร์ประเภทใดประเภทหนึ่งโดยเฉพาะของรัฐบาลนั้นขัดต่อนโยบายในภาพรวมที่มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาให้อุตสาหกรรมซอฟต์แวร์โดยรวมเติบโตอย่างยั่งยืน” วารุณีกล่าว “น่าจะเป็นเรื่องที่ดีกว่าหรือเปล่า หากรัฐบาลกำหนดและดำเนินนโยบายที่สนับสนุนให้ผู้เชี่ยวชาญด้านไอทีหรือผู้ใช้ซอฟต์แวร์ได้มีโอกาสตัดสินใจว่าจะเลือกใช้ซอฟต์แวร์ใดให้เหมาะกับการใช้งานของตัวเองมากที่สุด” ไม่ต้องสงสัยเลยว่า คำตอบ คือ เป็นเรื่องที่ดีกว่าอย่างแน่นอน นโยบายที่ให้ความสำคัญมุ่งเรื่องกับการใช้งานของซอฟต์แวร์ให้เหมาะกับวัตถุประสงค์การใช้งานเป็นเรื่องที่ดีกว่าเสมอ

ในช่วงไม่กี่เดือนมานี้ มีข่าวออกมาอย่างต่อเนื่องว่ารัฐบาลมุ่งส่งเสริมการใช้ซอฟต์แวร์โอเพ่นซอร์ส นอกจากนี้ยังมีการฝึกอบรมให้ข้าราชการเรียนรู้การใช้งานซอฟต์แวร์โอเพ่นซอร์ส ด้วย 

ในความเป็นจริง ซอฟต์แวร์โอเพ่นซอร์สและซอฟต์แวร์เชิงพาณิชย์สามารถทำงานร่วมกันบนพื้นที่ (Platform) เดียวกันได้ ในลักษณะที่ส่งเสริมการทำงานซึ่งกันและกัน ผู้ใช้ต้องจ่ายค่าใช้ลิขสิทธิ์สำหรับการใช้ซอฟต์แวร์เชิงพาณิชย์ในขณะที่ผู้ใช้ก็ต้องจ่ายค่าบริการและค่าบำรุงรักษาในกรณีที่เลือกใช้ซอฟต์แวร์โอเพ่นซอร์ส และที่สำคัญซอฟต์แวร์ทั้งสองประเภทมีเงื่อนไขเกี่ยวกับการอนุญาตให้ใช้ที่ผู้ใช้จำเป็นต้องปฏิบัติตาม สิ่งสำคัญ คือ การจัดซื้อจัดหาซอฟต์แวร์ควรขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ในการใช้งาน คุณสมบัติประโยชน์ใช้สอยต่างๆ ของซอฟต์แวร์นั้นๆ  เพื่อให้คุ้มค่าเงินที่เสียไป

นอกจากนี้ วารุณียังกล่าวว่า การณรงค์เรื่องการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาอย่างจริงจังเพื่อลดอัตราการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์นั้นเป็นสิ่งที่สมควรกระทำมากกว่าการลดราคาหรือการแจกซอฟต์แวร์ฟรี ทั้งนี้เพราะทรัพย์สินทางปัญญานั้นเป็นรากฐานของซอฟต์แวร์ทั้งเชิงพาณิชย์และโอเพ่นซอร์ส “เราเห็นตัวอย่างจากประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคนี้ว่าการสร้างความตระหนักในเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาและการบังคับใช้กฎหมายเพื่อปกป้องสิทธิ์ของผู้พัฒนาซอฟต์แวร์คือแนวทางที่มีประสิทธิภาพในการลดการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ ประเทศจีนลดอัตราการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ลงได้มากตั้งแต่ปีพ.ศ. 2546 เป็นต้นมาด้วยวีธีนี้ ประเทศไทยเองก็ลดการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ลงไปได้มากในช่วงสามปีที่ผ่านมาด้วยวิธีการเดียวกัน ในขณะที่ยังไม่มีการพิสูจน์ว่า การใช้ซอฟต์แวร์โอเพ่นซอร์สจะช่วยลดอัตราการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ได้อย่างไร”

สมพร  มณีรัตนะกูล กรรมการผู้จัดการบริษัท ไทยซอฟท์แวร์เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด และสมาชิกของบีเอสเอ เห็นด้วยว่าการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาอย่างจริงจังคือสูตรสำเร็จในการพัฒนาอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทย เขายังกล่าวอีกว่าการส่งเสริมซอฟต์แวร์โอเพ่นซอร์สจะไม่ได้ผลจนกว่าอัตราการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ของไทยซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ 76% จะลดลงสู่ระดับเดียวกับค่าเฉลี่ยของภูมิภาคเอเชีย แปซิฟิคที่ 61% 

“ตราบใดที่บริษัทห้างร้านและผู้ใช้ทั่วไปยังคงหาซื้อซอฟต์แวร์เชิงพาณิชย์เถื่อนได้ในราคาถูกแสนถูกดังเช่นที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ พวกเขาจะไม่เกิดแรงจูงใจในการปรับเปลี่ยนมาใช้ซอฟต์แวร์โอเพ่นซอร์ส” สมพร ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายซอฟต์แวร์เชิงพาณิชย์ในราคาเริ่มต้นเพียง 200 บาทกล่าว “แทนที่จะโหมสร้างกระแสความต้องการซอฟต์แวร์โอเพ่นซอร์ส เราควรหันมาให้โอกาสนักพัฒนาซอฟต์แวร์ไทยจะดีกว่า หากมีการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาอย่างเหมาะสมแล้ว การสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ จะเกิดตามมา”   

สมพรยังชี้ให้เห็นว่าการส่งเสริมซอฟต์แวร์โอเพ่นซอร์สของภาครัฐไม่ได้ส่งผลดีต่อการส่งออกซอฟต์แวร์ไทยเลย ปัจจุบันตัวเลขการส่งออกซอฟต์แวร์ไทยอยู่ที่ราว 500 ล้านบาทต่อปี

“หากปราศจากตลาดในประเทศเพราะขาดการคุ้มครองด้านทรัพย์สินทางปัญญา เราก็ไม่สามารถผลิตนักพัฒนาซอฟต์แวร์รุ่นใหม่ๆ เพื่อเพิ่มการส่งออกได้” สมพรกล่าว “การลดการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์คือก้าวย่างสำคัญสู่อุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ที่เติบโตอย่างยั่งยืน”

บีเอสเอชื่นชมความพยายามของไทยในการบังคับใช้กฎหมายเพื่อคุ้มครองสิทธิ์ของนักพัฒนาซอฟต์แวร์และกล่าวว่านโยบายของภารรัฐในการณรงค์คุ้มครองสิทธิด้านทรัพย์สินทางปัญญาอย่างต่อเนื่องย่อมส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมซอฟต์แวร์อย่างแน่นอน

“ประสบการณ์ของเราที่มีในประเทศต่างๆ ทั่วโลกแสดงให้เห็นว่าไม่มีสิ่งใดมาแทนที่การส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิด้านทรัพย์สินทางปัญญาได้ มันอาจไม่ใช่หนทางที่สะดวกง่ายดายแต่รับรองว่าเป็นหนทางที่ได้ผลดีที่สุด” วารุณีกล่าวทิ้งท้าย

 

เกี่ยวกับบีเอสเอ
สมาชิกบีเอสเอรวมถึง อโดบี, อจิเล้นท์ เทคโนโลยีส์, อัลเตียม, แอปเปิ้ล, อควาโฟล,เออาร์เอ็ม, อาร์ฟิก เทคโนโลยี, ออโต้เดสค์, ออโต้ฟอร์ม, อวีวา, เอวีจี,  เบนลี่ ซิสเต็มส์, ซีเอ,คาเดนส์, ซิสโก้ ซิสเต็มส์,  ซีเอ็นซี/มาสเตอร์แคม, คอเรล, แดสเซิลท์ ซิสเต็มส์ โซลิดเวิร์คส์ คอร์ปอเรชั่น,  เดลล์, เอ็มบาร์คาเดโร, ฟรอนท์ไลน์ พีซีบี โซลูชั่นส์ – ในเครือบริษัท ออร์โบเท็ค  วาเลอร์, เอชพี, ไอบีเอ็ม, อินเทล, อินทุธ, แคสเปอร์สกาย แล็บ,  แมคอาฟี, ไมโครซอฟท์, มินิแท็บ, พาราเม็ทตริกซ์ เทคโนโลยี คอร์เปอเรชั่น,โปรเกรส, ควาร์ค, เควสท์ ซอฟต์แวร์, โรเซ้ตต้า สโตน, เอสเอพี, ซีเมนส์, ไซเบส, ไซแมนเทค,ซินนอปซิส,  ไทยซอฟท์แวร์เอ็นเตอร์ไพร์ส และ เดอะ แมธเวิร์กส์

 

 

Share this post

Submit to FacebookSubmit to TwitterSubmit to LinkedIn