เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2557 บริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ ซึ่งมีผู้ถือหุ้นเป็นชาวไทยและชาวญี่ปุ่น เป็นหนึ่งในเกือบ 50 บริษัทที่ตำรวจเข้าตรวจค้นหาหลักฐานการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ตามเบาะแสที่ได้รับในช่วงสี่เดือนแรกของปีนี้ บริษัทดังกล่าวตั้งอยู่ในจังหวัดสมุทรปราการ เป็นบริษัทลูกขององค์กรธุรกิจใหญ่ในญี่ปุ่น และมีรายรับเมื่อปีที่แล้วราว 140 ล้านบาท ถูกจับกุมหลังพบใช้ซอฟต์แวร์ของซีเมนส์ พีแอลเอ็ม (Siemens PLM) โดยไม่ได้รับอนุญาต
กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (บก.ปอศ.) กล่าวถึงคดีนี้ ในขณะเปิดเผยผลการดำเนินงานป้องกันปราบปรามการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ในไตรมาสแรกของปี 2557 ตลอดช่วง 4 เดือนแรก เจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าตรวจค้นองค์กรธุรกิจจำนวน 50 แห่งเพื่อหาหลักฐานการใช้ซอฟต์แวร์เถื่อนและโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์ หลังจากมีการรายงานเบาะแสในเบื้องต้นเข้ามาอย่างต่อเนื่อง โดยองค์กรธุรกิจเหล่านี้มีเครื่องคอมพิวเตอร์เฉลี่ย 10 เครื่องขึ้นไป การเข้าตรวจค้นส่วนใหญ่เกิดขึ้นในเขตกรุงเทพฯ และจังหวัดโดยรอบ อย่างไรก็ตาม ในขณะนี้ บก.ปอศ. มีรายชื่อองค์กรธุรกิจอีกหลายร้อยแห่งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคใต้ ที่กำลังสืบสวนเพิ่มเติมหลังจากได้รับเบาะแสแล้ว คาดว่าการเข้าตรวจค้นจับกุมครั้งใหญ่น่าจะเกิดขึ้นในช่วงที่เหลือของปี
นอกจากบริษัทที่มีชาวญี่ปุ่นเป็นผู้ถือหุ้นแห่งนี้แล้ว ในไตรมาสแรก ตำรวจยังเข้าตรวจค้นองค์กรธุรกิจที่มีผู้ถือหุ้นเป็นชาวต่างชาติอีกหลายแห่งในข้อหาละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ รวมองค์กรธุรกิจที่มีผู้ถือหุ้นเป็นชาวสวิตเซอร์แลนด์ สิงคโปร์ จีน ไต้หวัน มาเลเซีย และเกาหลีใต้ อย่างไรก็ดี องค์กรธุรกิจส่วนใหญ่ที่ถูกเข้าตรวจค้นมีเจ้าของเป็นคนไทย
ในจำนวนซอฟต์แวร์ที่ถูกละเมิดลิขสิทธิ์มากที่สุด มีซอฟต์แวร์ของไทยซอฟท์แวร์เอ็นเตอร์ไพรส์ (Thai Software Enterprise) ซีเอ็นซี ซอฟต์แวร์/มาสเตอร์แคม (CNC Software/MasterCam) ไมโครซอฟท์ (Microsoft) และซีเมนส์ พีแอลเอ็ม (Siemens PLM) แม้ว่าจะมีราคาเพียงแค่ประมาณ 300 บาท แต่ซอฟต์แวร์พจนานุกรมของไทยซอฟท์แวร์เอ็นเตอร์ไพรส์เป็นหนึ่งในซอฟต์แวร์ที่ถูกละเมิดลิขสิทธิ์มากที่สุดในประเทศไทย นอกจากนี้ พบว่าองค์กรธุรกิจที่ถูกเข้าตรวจค้นมีการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์กับเครื่องพีซีแบรนด์ดังของสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น เกาหลี และไต้หวัน รวมถึงพีซีที่ไม่มีแบรนด์ด้วย
“การที่โรงงานขนาดใหญ่จำนวนมากใช้งานซอฟต์แวร์เถื่อนและโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์ เป็นเรื่องที่ส่งผลกระทบถึงชื่อเสียงของประเทศไทยในฐานะที่เป็นผู้ผลิตสำคัญในระบบห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ของตลาดโลก” พ.ต.อ. ชัยณรงค์ เจริญไชยเนาว์ รองผู้บังคับการและโฆษกของบก. ปอศ. กล่าว
“เราขอให้ผู้บริหารของโรงงานทุกแห่งเร่งตรวจสอบสินทรัพย์ซอฟต์แวร์ และใช้ซอฟต์แวร์อย่างถูกต้องตามกฎหมาย การละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ได้กลายเป็นประเด็นร้อนทางการค้าสำหรับผู้ผลิตและส่งออกสินค้าไปยังสหรัฐอเมริกา หรือทำธุรกิจกับผู้ซื้อรายใหญ่ในตลาดโลก ปัจจุบัน จากรายงานที่เราได้รับ พบว่าโรงงานในภาคการผลิตส่วนใหญ่มีการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ ดังนั้น ผู้บริหารจึงควรเร่งตรวจสอบการใช้งานซอฟต์แวร์ให้ถูกต้องในทันที”
เจ้าหน้าที่ตำรวจได้รับเรื่องร้องเรียนจากพนักงานบริษัทที่แจ้งการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ในองค์กรธุรกิจเกือบ 3,000 แห่ง ส่วนมากเป็นองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่ แต่ก็มีขนาดกลางและเล็กรวมอยู่ด้วย โดยคาดว่าจะเข้าตรวจค้นองค์กรธุรกิจได้ราว 300 หรือมากกว่าภายในปีนี้ หลังจากการสืบหาเบาะแสเพิ่มเติมที่กำลังดำเนินอยู่ในขณะนี้
หนึ่งในกรณีละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ที่ใหญ่ที่สุดในไตรมาสแรกนี้ คือกรณีของผู้ผลิตและจัดจำหน่ายเทปกาวและสติ๊กเกอร์ บริษัทดังกล่าวมีรายรับต่อปีสูงถึง 191 ล้านบาท แต่ใช้งานซอฟต์แวร์เถื่อนและไม่ได้รับอนุญาตในเครื่องพีซีทั้งหมด 50 เครื่อง กรณีเช่นนี้มีไม่มากนัก เพราะส่วนใหญ่ที่พบจะเป็นกรณีใช้งานซอฟต์แวร์พื้นฐานของแท้ร่วมกับซอฟต์แวร์อื่นที่เป็นเวอร์ชั่นเถื่อนและเวอร์ชั่นที่ไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์ และบางครั้งพบว่ามีการใช้ซอฟต์แวร์เฉพาะด้านโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์
“ไม่ว่าจะเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ลักษณะใด ผู้บริหารของบริษัทจำเป็นต้องมีความคิดริเริ่มและบริหารจัดการสินทรัพย์ซอฟต์แวร์โดยไม่รีรอ” พ.ต.อ. ชัยณรงค์ กล่าว “ผู้บริหารระดับสูงขององค์กรธุรกิจหลายแห่งเองกลายเป็นผู้ที่ได้รับผลร้ายที่ตามมาจากการที่องค์กรธุรกิจถูกเข้าตรวจค้นในข้อหาละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ เพราะต้องรับผิดชอบสำหรับความสูญเสียทางการเงิน การหยุดชะงักของการดำเนินธุรกิจ การเสื่อมเสียชื่อเสียงขององค์กรธุรกิจ ผลกระทบต่อความรู้สึกของพนักงานที่รู้เห็นเหตุการณ์ระหว่างที่ถเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าตรวจค้น และผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของลูกค้าที่อาจบังเอิญทราบข่าวที่องค์กรธุรกิจถูกดำเนินคดีในข้อหาการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ นี่คือสาเหตุที่เราขอให้ผู้บริหารระดับสูงเข้าเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ไขปัญหานี้”
ภายใต้พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 ความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์มีโทษจำคุก หรือปรับ หรือทั้งจำทั้งปรับ ผู้ที่แจ้งเบาะแสการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ทางสายด่วนที่ 02-714-1010 หรือรายงานทางออนไลน์ที่ www.stop.in.th มีสิทธิ์ได้รับรางวัลสูงสุดมูลค่า 250,000 บาท โดยข้อมูลของผู้แจ้งเบาะแสจะถูกปิดไว้เป็นความลับ
-
ผลการสำรวจ พฤติกรรมการฟังเพลงกับการละเมิดลิขสิทธิ์< ก่อนหน้า
-
อัยการสหรัฐฯ...ต่อไป >