กรุงเทพฯ วันที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556 – สำนักงานตำรวจแห่งชาติวางแผนตรวจสอบองค์กรธุรกิจที่ละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์เพิ่มขึ้น 30 เปอร์เซ็นต์ในปีหน้า หวังลดการใช้ซอฟต์แวร์ที่ปราศจากสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิ์ โดยตำรวจขอให้ผู้บริหารเร่งตรวจสอบให้แน่ใจว่าซอฟต์แวร์ที่ใช้งานอยู่มีสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิ์อย่างถูกต้องครบถ้วน เพื่อหลีกเลี่ยงการถูกเข้าตรวจค้นและดำเนินดคี
ตำรวจเพิ่มความพยายามอย่างต่อเนื่อง เพื่อลดการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ เพื่อให้ประเทศไทยพ้นจากรายชื่อประเทศที่ต้องจับตามองเป็นพิเศษของสำนักผู้แทนทางการค้าประเทศสหรัฐอเมริกา รวมถึงบทลงโทษทางการค้าที่อาจเกิดขึ้นได้จากการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา ตำรวจกล่าวว่ามีบริษัทที่พึ่งพาเทคโนโลยีและซอฟต์แวร์เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จึงเป็นเรื่องท้าทายสำหรับการลดอัตราการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์
ในปีนี้ ตำรวจตั้งเป้าเข้าตรวจค้นองค์กรธุรกิจที่ละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ เพิ่มขึ้นกว่าปี 2555 ร้อยละ 50 ทั้งยังได้เพิ่มจำนวนเจ้าหน้าที่ เพื่อสอดรับกับการขยายพื้นที่การเข้าตรวจค้น โดยในปีนี้ ได้เข้าตรวจค้นในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ชลบุรี สมุทรปราการ ปทุมธานี จันทบุรี ชลบุรี กรุงเทพ สงขลา ภูเก็ต เชียงใหม่ เพชรบุรี นครปฐม นนทบุรี ระยอง ปราจีนบุรี ขอนแก่น และสุโขทัย
บริษัท ไทยซอฟท์แวร์เอ็นเตอร์ไพรส์ ซึ่งมีเจ้าของเป็นคนไทย เป็นหนึ่งในบริษัทที่ผลิตภัณฑ์ซอฟต์แวร์ถูกละเมิดลิขสิทธิ์มากที่สุดในปี 2555 บริษัทเกมสัญชาติไทยอีกแห่งหนึ่งก็ต้องสูญเสียรายได้ไปหลายร้อยล้านบาทจากการละเมิดลิขสิทธิ์ นอกจากนี้ยังมีบริษัทซอฟต์แวร์ระดับโลกอื่นๆ เช่น ไมโครซอฟท์ (Microsoft) เทคกล้า (Tekla) และ ซีเมนส์ พีแอลเอ็ม ซอฟต์แวร์ (Siemens PLM Software) ที่ได้แจ้งความร้องทุกข์ว่าผลิตภัณฑ์ต่างๆ ของตนถูกนำไปใช้งานโดยปราศจากสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิ์
ในปีนี้ หลายบริษัทที่ทำธุรกิจกับแบรนด์ระดับโลกถูกพบว่าละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ด้วยเช่นกัน เช่น ผู้ผลิตชิ้นส่วนให้กับยานยนต์ยักษ์ใหญ่ของโลก ผู้จัดหาบรรจุภัณฑ์ให้กับผู้ผลิตเครื่องดื่มชั้นนำ และผู้ผลิตเฟอร์นิเจอร์ให้กับแบรนด์ชื่อดัง “ผู้บริหารควรให้ความสนใจอย่างจริงจังกับซอฟต์แวร์ที่บริษัทใช้งานอยู่ และตรวจสอบให้แน่ใจว่ามีสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิ์อย่างถูกต้องตามกฎหมายเพื่อใช้งานซอฟต์แวร์เหล่านั้น” พันตำรวจเอก ชัยณรงค์ เจริญไชยเนาว์ รองผู้บังคับการกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (บก.ปอศ.) กล่าว “เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับบริษัทที่ทำธุรกิจกับบริษัทต่างประเทศในระบบซัพพลายเชนท์ หรือห่วงโซ่อุปทาน เพราะกำลังถูกจับตามองอย่างใกล้ชิด ประเทศไทยสามารถรับประโยชน์ในฐานะแหล่งลงทุนที่ดี หากการทำธุรกิจในระบบซัพพลายเชนท์ หรือห่วงโซ่อุปทาน มีความโปร่งใสและตรวจสอบได้”
บริษัทส่วนใหญ่ที่ถูกตรวจค้นในข้อหาละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์มีรายรับและทรัพย์สินจำนวนมาก รายงานของตำรวจระบุว่าบริษัทที่ถูกตรวจค้นเหล่านี้มีรายรับเฉลี่ยต่อปีสูงกว่า 231 ล้านบาท
องค์กรธุรกิจในภาควิศวกรรมและรับเหมาก่อสร้าง ถูกเข้าตรวจค้นในข้อหาละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์บ่อยครั้งที่สุด คิดเป็นร้อยละ 31 ของการตรวจค้นจับกุมทั้งหมด ตามด้วยภาคการผลิตสินค้า (ร้อยละ 22) เครื่องจักรกล (ร้อยละ 11) รับเหมาช่วง (ร้อยละ 10) ยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ (ร้อยละ 8) ออกแบบ (ร้อยละ 7) กระจายสินค้าและค้าส่ง (ร้อยละ 6)
ราวร้อยละ 80 ของบริษัทที่ถูกเข้าตรวจค้นในข้อหาละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ในปีนี้ มีผู้ถือหุ้นเป็นชาวไทย นอกนั้นเป็นบริษัทสัญชาติญี่ปุ่น (ร้อยละ 5) บริษัทสัญชาติจีน (ร้อยละ 4) บริษัทสัญชาติไต้หวัน (ร้อยละ 2) บริษัทสัญชาติสิงคโปร์ (ร้อยละ 2) บริษัทสัญชาติมาเลเซีย (ร้อยละ 2) บริษัทสัญชาติเกาหลีใต้ (ร้อยละ 1) และบริษัทสัญชาติอื่นๆ (ร้อยละ 3)
มาตรการของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่เข้มงวดมากขึ้นนั้น ดำเนินควบคู่ไปกับการประกาศของกรมทรัพย์สินทางปัญญาให้ปี 2556 เป็นปีแห่งการคุ้มครองสิทธิ์ในทรัพย์สินทางปัญญา
ภายใต้พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 ผู้ใดกระทำความผิดละเมิดลิขสิทธิ์จะได้รับโทษจำคุกหรือปรับ หรือทั้งจำทั้งปรับ
สำหรับผู้ที่แจ้งเบาะแสการใช้งานซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์ผ่านสายด่วนพันธมิตรซอฟต์แวร์ (BSA Hotline) ที่ 02-714-1010 หรือรายงานทางออนไลน์ จะได้รับค่าตอบแทนสูงสุด 250,000 บาท โดยข้อมูลของผู้แจ้งเบาะแสจะถูกปิดไว้เป็นความลับ สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม สามารถเข้าชมได้ที่ www.stop.in.th
-
ตำรวจจับ 7 บริษัทในเชียงใหม่ หนึ่งสัปดาห์ พบใช้ซอฟต์แวร์เถื่อนกว่า 7.8...< ก่อนหน้า
-
บริษัทผู้จัดหาวัตถุดิบให้ผู้ผลิตรถยนต์...ต่อไป >