บริษัทผู้จัดหาวัตถุดิบให้ผู้ผลิตรถยนต์ ผู้ส่งออกเฟอร์นิเจอร์และบริษัทอาหาร ถูกบุกจับข้อหาละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์

ดาวไม่ได้ใช้งานดาวไม่ได้ใช้งานดาวไม่ได้ใช้งานดาวไม่ได้ใช้งานดาวไม่ได้ใช้งาน
 

เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2556 ที่ผ่านมา สำนักงานตำรวจแห่งชาติออกโรงเตือนองค์กรธุรกิจไทยให้เห็นความสำคัญในการใช้ซอฟต์แวร์ถูกลิขสิทธิ์ จากการบุกตรวจจับหลายครั้งเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว พบหลายบริษัทที่เกี่ยวข้องในระบบห่วงโซ่อุปทานระหว่างประเทศยังคงใช้ซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์

 

“ธุรกิจห่วงโซ่อุปทานมีความเสี่ยงบางประการ ซึ่งยากต่อการบริหารจัดการ เช่นภัยธรรมชาติ แต่การหลีกเลี่ยงซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์เป็นความเสี่ยงที่ควบคุมได้ ด้วยการกำกับดูแลอย่างเหมาะสม หลายองค์กรธุรกิจ ในประเทศไทยและทั่วภูมิภาคเอเชีย จำเป็นต้องแสดงให้ลูกค้าเห็นว่าพวกเขาใช้ซอฟต์แวร์ลิขสิทธิ์ เนื่องจากการปฏิบัติตามกฎหมายเป็นสิ่งที่ลูกค้าต้องการเห็นเพิ่มมากขึ้น” พันตำรวจเอก ชัยณรงค์ เจริญไชยเนาว์ รองผู้บังคับการกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (บก.ปอศ.) กล่าว

 

ในช่วงสองสัปดาห์สุดท้ายของเดือนกันยายน เจ้าหน้าที่ตำรวจได้บุกตรวจค้น 13 บริษัทที่ใช้ซอฟต์แวร์ผิดกฎหมายในการดำเนินธุรกิจ หนึ่งในบริษัทที่ถูกตรวจค้นคือบริษัทผลิตอาหารทะเลในจังหวัดสงขลา ซึ่งมียอดขาย 638 ล้านบาทในปี 2555 บริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วนรถจักรยานยนต์ในสมุทรปราการซึ่งมีรายงานว่าจัดส่งชิ้นส่วนให้กับผู้ผลิตรถจักรยานยนต์ชื่อดังสัญชาติญี่ปุ่น รวมถึงผู้ผลิตชิ้นส่วนเครื่องจักรในปทุมธานีซึ่งมีผู้ถือหุ้นเป็นชาวสิงคโปร์และมียอดขาย 307 ล้านบาทในปี 2555

 

นอกจากนี้ยังมีผู้ผลิตเฟอร์นิเจอร์ส่งออกไปยังสหรัฐอเมริกาและบริษัทที่มีเจ้าของเป็นชาวไต้หวันซึ่งผลิตชุดกีฬาอยู่ในชลบุรี มียอดขายเมื่อปี 2555 อยู่ที่ 59 ล้านบาท

 

เจ้าหน้าที่ตำรวจยังคงเดินหน้าบุกตรวจค้นบริษัทที่ใช้ซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์อย่างต่อเนื่อง โดยได้เพิ่มกำลังเจ้าหน้าที่ มุ่งเน้นงานสืบสวนและขยายการบังคับใช้กฎหมายอย่างเต็มที่ทั่วประเทศ ภายในช่วงเก้าเดือนแรกของปี 2556 เจ้าหน้าที่ตำรวจได้บุกตรวจค้นบริษัทที่ใช้ซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์ไปแล้ว 235 แห่งซึ่งตั้งอยู่ใน 20 จังหวัดที่มีธุรกิจขนาดใหญ่ทั่วประเทศ ขณะที่ตลอดทั้งปี 2555 ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ตำรวจได้บุกตรวจค้นบริษัทที่ละเมิดกฎหมายลิขสิทธิ์ 179 แห่ง โดยตรวจพบการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ของออโต้เดสก์® (Autodesk®) ไมโครซอฟท์ (Microsoft) เทคกล้า (Tekla) ซีเมนส์ (Siemens) และไทยซอฟท์แวร์เอ็นเตอร์ไพรส์ (Thai Software Enterprises)

 

มาตรการของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่เข้มงวดมากขึ้นนั้นดำเนินควบคู่ไปกับคำแถลงของกรมทรัพย์สินทางปัญญาที่ประกาศให้ปี 2556 เป็นปีแห่งการต่อต้านการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา ภายใต้พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 ผู้ใดกระทำความผิดละเมิดลิขสิทธิ์จะได้รับโทษจำคุกหรือปรับ หรือทั้งจำทั้งปรับ

 

สำหรับผู้ที่แจ้งเบาะแสการใช้งานซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์ผ่านสายด่วนพันธมิตรซอฟต์แวร์ (BSA Hotline) ที่ 02-714-1010 หรือรายงานทางออนไลน์จะได้รับค่าตอบแทนสูงสุด 250,000 บาท โดยข้อมูลของผู้แจ้งเบาะแสจะถูกปิดไว้เป็นความลับ สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม สามารถเข้าชมได้ที่ www.stop.in.th

Share this post

Submit to FacebookSubmit to TwitterSubmit to LinkedIn