เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2555 ที่ผ่านมา ตำรวจเร่งตรวจสอบและปราบปรามการค้าซอฟต์แวร์เถื่อนตามศูนย์การค้าไอทีและห้างสรรพสินค้าทั่วประเทศ ประกาศจัดหนักในช่วงเดือนเมษาถึงมิถุนาปีนี้ตามนโยบายรัฐบาลที่มีการตั้งเป้าหมายให้ไทยหลุดโผ PWL ของสหรัฐฯ พร้อมจับมือผู้ประกอบการศูนย์การค้าช่วยประสานแจ้งเตือนและสอดส่องดูแลผู้เช่า ล่าสุดเปิดตัวหุ่นตำรวจไอที “จ่าเฉย” เพื่อช่วยกระตุ้นจิตสำนึกผู้ซื้อและผู้ขายซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์
กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ หรือ บก.ปอศ. ได้ใช้ความพยายามมาโดยตลอดที่จะลดอัตราการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ที่มาพร้อมกับการค้าปลีกอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ โดยเฉพาะในศูนย์การค้าด้านไอที โดยได้เรียกประชุมเพื่อขอความร่วมมือจากผู้ประกอบการศูนย์การค้าให้ช่วยสอดส่องดูแลและแจ้งเตือนผู้เช่าให้งดเว้นการละเมิดลิขสิทธิ์สินค้า อาทิ โปรแกรมคอมพิวเตอร์ ภาพยนตร์ และเครื่องแต่งกาย โดยถือเป็นการแสดงความรับผิดชอบในฐานะเจ้าของพื้นที่ให้เช่า
พ.ต.อ. ชัยณรงค์ เจริญไชยเนาว์ รองผู้บังคับการ บก. ปอศ. กล่าวว่า จากการสำรวจเมื่อไม่นานมานี้พบว่า มีร้านค้าเครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์อยู่ประมาณ 1,200 แห่งทั่วประเทศ โดย 450-500 ร้านค้าตั้งอยู่ในกรุงเทพฯและจังหวัดใหญ่ๆ และมียอดขายคิดเป็นร้อยละ 80 ของยอดขายโดยรวมในแต่ละปี ซึ่งเป็นกลุ่มที่ตำรวจจะจับตามองเป็นพิเศษในช่วงเดือนเมษายนถึงมิถุนายนปีนี้
“การละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ทำให้ประเทศไทยต้องสูญเสียรายได้จากภาษีอากรในแต่ละปีเป็นจำนวนมหาศาล และยังเป็นการทำลายภาพลักษณ์ของประเทศไทยในสายตาของต่างประเทศ อีกทั้งยังทำให้ประเทศสูญเสียโอกาสทางการค้า โดยเฉพาะการที่ไทยยังอยู่ในข่ายประเทศที่ต้องจับตามองเป็นพิเศษของสหรัฐอเมริกา ตำรวจจึงจำเป็นต้องเร่งปราบปรามการละเมิดลิขสิทธิ์อย่างเคร่งครัด” พ.ต.อ. ชัยณรงค์ กล่าว
บก. ปอศ. จึงได้ร่วมมือกับศูนย์การค้าพันธุ์ทิพย์ พลาซ่า สาขาประตูน้ำ ในการทำโครงการ “จ่าเฉย” เพื่อพิทักษ์ลิขสิทธิ์โปรแกรมคอมพิวเตอร์ โดยจะทำการติดตั้งหุ่นจำลองตำรวจ “จ่าเฉย” ในจุดต่างๆ ของศูนย์การค้า เพื่อเป็นการย้ำเตือนจิตสำนึกไม่ให้ผู้ค้าทำการละเมิดลิขสิทธิ์และผู้บริโภคไม่ให้ซื้อสินค้าที่ผิดกฎหมายเหล่านั้น และยังเป็นสัญลักษณ์แสดงให้เห็นถึงความเข้มข้นของมาตรการที่ภาครัฐจะนำมาใช้ ทั้งในการป้องปรามและปราบปรามอาชญากรรมด้านทรัพย์สินทางปัญญาอีกด้วย พ.ต.อ. ชัยณรงค์ กล่าว
เครื่องคอมพิวเตอร์ส่วนใหญ่ที่นำเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทย จะถูกนำมาเป็นแบบเครื่องเปล่าไม่มีโปรแกรมใดๆ ซึ่งมีผู้ค้าปลีกจำนวนน้อยมากที่จะมีการจำหน่ายเครื่องคอมพิวเตอร์พร้อมการติดตั้งโปรแกรมที่ถูกต้อง ผู้ซื้อส่วนใหญ่เลือกที่จะซื้อซอฟต์แวร์เถื่อนในราคา 300-500 บาท เพื่อติดตั้งและนำมาใช้งาน “ผู้บริโภคมิได้ตระหนักว่า การกระทำดังกล่าวเสมือนการเป็นมิจฉาชีพที่ทำการขโมยทรัพย์สินของผู้อื่น ซึ่งบางครั้งซอฟต์แวร์ที่นำไปใช้เป็นการผลิตจากฝีมือของคนไทยด้วยกันนั่นเอง ทั้งนี้ ผู้จำหน่ายซอฟต์แวร์เถื่อนทราบดีว่า เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายและมีบทลงโทษอย่างชัดเจนแต่กลับเพิกเฉยเสีย” พ.ต.อ. ชัยณรงค์ กล่าวเพิ่มเติม
ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปีพ.ศ. 2558 ซึ่งเมื่อถึงเวลานั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่ประเทศสมาชิกจะต้องจัดการกับปัญหาการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาได้ดีกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน และในส่วนของ บก.ปอศ. เอง ก็จะมุ่งเน้นในการปราบปรามการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ให้บรรลุตามวัตถุประสงค์ “ซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์มีราคาถูกกว่าก็จริง แต่สิ่งที่ผู้บริโภคอาจจะได้กลับมาจากการใช้ซอฟต์แวร์ผิดกฎหมายนั้น คือพวกมัลแวร์และไวรัสต่างๆ ที่มากับโปรแกรมคอมพิวเตอร์เหล่านั้น ทางการใคร่ขอเตือนผู้ขายว่า เราจะมีแผนบุกเข้าตรวจค้นถี่ขึ้น และจากการที่ได้ทำการประชาสัมพันธ์ให้ได้รับรู้ทั่วกันแล้ว ผู้ที่กระทำความผิดจะได้รับการพิจารณาโทษอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้” พ.ต.อ. ชัยณรงค์ กล่าว
เมื่อปีที่ผ่านมา ตำรวจบุกเข้าตรวจค้นซอฟต์แวร์ผิดกฎหมายมูลค่ากว่า 500 ล้านบาท ซึ่งภายใต้พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ ปี พ.ศ. 2537 การละเมิดลิขสิทธิ์โปรแกรมคอมพิวเตอร์ ไม่ว่าจะเป็นการขาย การถือครองเพื่อขาย หรือการนำเสนอขายโปรแกรมเหล่านั้นมีโทษจำคุกไม่เกิน 4 ปี หรือปรับไม่เกิน 800,000 บาท และศาลอาจมีคำสั่งให้ปิดกิจการของผู้กระทำความผิดได้
ประเทศไทยตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะแซงหน้าฮ่องกง ขึ้นเป็นอันดับหนึ่งของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ในด้านการลดอัตราการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ลงให้ได้มากที่สุด ตลอดระยะเวลา 4 ปีที่ผ่านมา อัตราการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ในประเทศไทยลดลงอย่างต่อเนื่องจากร้อยละ 80 ในปีพ.ศ. 2549 เหลือร้อยละ 73 ในปีพ.ศ. 2553
-
ตัวเลขการเข้าตรวจค้นองค์กรธุรกิจที่ละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์...< ก่อนหน้า
-
ตำรวจลงดาบอินเตอร์เน็ตคาเฟ่ใช้ซอฟต์แวร์ผี...ต่อไป >