เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2555 ที่ผ่านมา กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (บก. ปอศ.) ประกาศความพร้อมในการปราบปรามการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ในปีนี้อย่างต่อเนื่อง เพื่อผลักดันให้ประเทศไทยก้าวขึ้นสู่ความเป็นผู้นำของภูมิภาคในด้านการลดอัตราการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ เผยปี 2554 เจ้าหน้าที่ได้ทำการเข้าตรวจค้นองค์กรธุรกิจที่ละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์เพิ่มขึ้น แม้จะมีการเว้นช่วงในภาวะน้ำท่วม
ในปีที่ผ่านมา บก. ปอศ. ได้ดำเนินคดีกับองค์กรธุรกิจที่มีการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์บนเครื่องพีซีทั้งหมด 184 แห่ง คิดเป็นมูลค่าความเสียหาย 538.7 ล้านบาท เทียบกับมูลค่าความเสียหาย 472.5 ล้านบาท จากจำนวนองค์กรธุรกิจ 158 แห่งในปี 2553 มูลค่าความเสียหายในปี 2554 เพิ่มขึ้นร้อยละ 14 ซึ่งหากไม่เกิดเหตุอุทกภัยในช่วงปลายปี คาดว่าการดำเนินคดีจะเพิ่มขึ้นมากกว่านี้แน่นอน แต่เมื่อพิจารณาตั้งแต่ปี 2550 พบว่าบก.ปอศ. มีผลการจับกุมดำเนินคดีเพิ่มขึ้นทุกปี
“บก. ปอศ. ได้หยุดการเข้าตรวจค้นองค์กรธุรกิจที่ละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ในช่วงที่เกิดภาวะน้ำท่วม และได้ส่งเจ้าหน้าที่ทั้งหมดไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยในหลายพื้นที่ด้วยกัน ถึงตอนนี้สถานการณ์ได้คลี่คลายกลับเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว บก. ปอศ. จึงมุ่งดำเนินการเข้าตรวจค้นองค์กรธุรกิจที่ละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ต่อไปทันที อย่างไรก็ตาม จะตรวจสอบก่อนเพื่อให้แน่ใจว่าองค์กรธุรกิจที่เราจะเข้าไปทำการตรวจค้นนั้นไม่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วม” พ.ต.อ. ชัยณรงค์ เจริญไชยเนาว์ รองผู้บังคับการ บก. ปอศ. กล่าว
“ถึงแม้เราจะหยุดการเข้าตรวจค้นองค์กรธุรกิจที่ละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ แต่ตัวเลขที่แสดงจำนวนองค์กรธุรกิจที่ละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ และมูลค่าความเสียหายในปีที่แล้วยังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากปีก่อนหน้า ผลงานของเราได้แสดงออกให้เห็นโดยที่เราไม่จำเป็นต้องกล่าวอะไรมากมาย เรายังคงมุ่งมั่นเอาจริงเอาจังที่จะไปให้ถึงเป้าหมายของเรา นั่นคือการเป็นที่หนึ่งและผู้นำของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิคในด้านการลดอัตราการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์” พ.ต.อ. ชัยณรงค์ กล่าว “เราต้องการให้ประเทศไทยมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักในฐานะประเทศที่ส่งเสริมการลงทุน และการเติบโตด้านนวัตกรรม ไม่ใช่ประเทศที่ขโมยทรัพย์สินทางปัญญา”
มีการประเมินว่าองค์กรธุรกิจ 42 แห่งจากทั้งหมด 184 แห่ง ที่เจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าตรวจค้นในปีที่แล้ว แต่ละแห่งมีมูลค่าสินทรัพย์โดยรวมอย่างน้อย 100 ล้านบาท และมีองค์กรธุรกิจ 15 แห่งจากทั้งหมด มีรายได้ต่อปีมากกว่า 1,000 ล้านบาท มีองค์กรธุรกิจสัญชาติอเมริกันสองแห่งที่ถูกตรวจค้น และพบว่ามีมูลค่าการละเมิดลิขสิทธิซอฟต์แวร์ถึง 1.61 ล้านบาท
ในเดือนธันวาคมที่ผ่านมาเพียงเดือนเดียว บก. ปอศ. ได้เข้าตรวจค้นและพบการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ในองค์กรธุรกิจ 14 แห่ง โดย 9 แห่งจากทั้งหมด มีรายได้ต่อองค์กรมากกว่า 100 ล้านบาทต่อปี และหนึ่งในจำนวนนั้นมีรายได้ต่อปีสูงถึง 3,810 ล้านบาท ซึ่งเป็นตัวเลขรายได้องค์กรที่สูงที่สุดของปีที่แล้ว
“แน่นอน องค์กรธุรกิจเหล่านี้มีงบประมาณมากเพียงพอ และสามารถจัดซื้อซอฟต์แวร์มาใช้งานได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย แต่กลับเพิกเฉยและเลือกที่จะใช้วิธีละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์มาสร้างความได้เปรียบให้กับธุรกิจของตัวเอง ทำให้ตัวเองมีต้นทุนในการดำเนินธุรกิจต่ำกว่าคู่แข่งรายอื่นที่ใช้ซอฟต์แวร์อย่างถูกต้องตามกฎหมายถือเป็นการแข่งขันทางธุรกิจที่ไม่เป็นธรรม และบ่อยครั้งที่เราจะเห็นว่า กลับกลายเป็นผู้ประกอบการขนาดเล็กเสียเองที่เป็นผู้เสียเปรียบทางธุรกิจ เพราะมีต้นทุนในการดำเนินธุรกิจสูงกว่า เนื่องมาจากการใช้ซอฟต์แวร์อย่างถูกต้องตามกฎหมาย” พ.ต.อ. ชัยณรงค์ กล่าว
มีคำแนะนำสำหรับองค์กรธุรกิจ ให้ใช้แต่ซอฟต์แวร์แท้และใช้ซอฟต์แวร์ให้ถูกต้องตามกฎหมายเท่านั้น เพราะไม่เพียงแต่จะปกป้ององค์กรธุรกิจจากความเสี่ยงที่จะถูกดำเนินคดีฐานละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ แต่ยังช่วยปกป้องระบบไอทีจากมัลแวร์ และความเสี่ยงด้านซิเคียวริตี้อื่นๆ “ต้นทุน หรือมูลค่าของการลงทุนซื้อซอฟต์แวร์แท้และใช้ซอฟต์แวร์อย่างถูกต้องตามกฎหมายนั้น ถือว่าต่ำมาก เมื่อเทียบกับมูลค่าจากความเสียหายที่จะเกิดกับธุรกิจและชื่อเสียงขององค์กรธุรกิจเอง หากองค์กรธุรกิจนั้นใช้ซอฟต์แวร์อย่างผิดกฎหมาย
“บก. ปอศ. ใคร่ขอกระตุ้นเตือนผู้บริหารองค์กรธุรกิจให้มีความรับผิดชอบ ใส่ใจตรวจสอบในเรื่องการใช้ซอฟต์แวร์ภายในองค์กรให้ถูกต้องตามกฎหมาย มีจำนวนไลเซ็นต์ให้ครบตามการใช้งานจริง เราถือว่าการไม่ละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์เป็นหนึ่งในหน้าที่และความรับผิดชอบขององค์กรธุรกิจต่อประเทศชาติ เพราะการใช้ซอฟต์แวร์อย่างถูกต้องตามกฎหมายช่วยสร้างโอกาสในการจ้างงาน และโอกาสทางธุรกิจ อีกทั้งยังช่วยสร้างการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ” พ.ต.อ. ชัยณรงค์ กล่าว
การปราบปรามการละเมิดลิขสิทธิซอฟต์แวร์โดย บก. ปอศ. ส่งผลให้ประเทศไทยถูกจัดอยู่ในอันดับที่สองของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค ในด้านอัตราการลดลงของการใช้ซอฟต์แวร์เถื่อนในระหว่างปี 2549 และ 2553 เป็นรองประเทศฮ่องกงเพียง 1 จุดเท่านั้น การตั้งเป้าหมายให้ประเทศไทยก้าวขึ้นสู่ความเป็นผู้นำของภูมิภาค ในการลดอัตราการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ในปีนี้ สอดคล้องกับนโยบายภาครัฐที่จะส่งเสริมการเติบโตของเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนด้วยนวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์ที่ทำให้เกิดโอกาสทางธุรกิจและการจ้างงานใหม่ๆ
p { margin-bottom: 0.21cm; }
ที่มา: BSA-International Data Corporation (IDC) 2010 Global Software Piracy Study
-
20 บริษัท ถูกจับแต่ต้นปี เพราะละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์< ก่อนหน้า
-
ไทยตกลงหนึ่งอันดับ ด้านความสามารถทางการแข่งขันของอุตสาหกรรมไอทีต่อไป >