บทความใหม่

กิจกรรมที่กำลังมาถึง

ประกาศผล Thailand Animation Contest 2011 by AACP

ดาวไม่ได้ใช้งานดาวไม่ได้ใช้งานดาวไม่ได้ใช้งานดาวไม่ได้ใช้งานดาวไม่ได้ใช้งาน
 

ประกาศผลไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว สำหรับโครงการประกวดความคิดสร้างสรรค์ของเยาวชนไทยด้วยแอนิเมชั่น 3 นาที ภายใต้ชื่อ "Thailand Animation Contest 2011 by AACP" ไทยแลนด์ เอนิเมชั่น คอนเทสต์ 2011 โดย อยุธยา อลิอันซ์ ซี.พี. ซึ่งหัวข้อของปีนี้คือ "คนรุ่นใหม่ หัวใจรักโลก" ที่จัดการเข้าค่ายไปเมื่อวันที่ 10-12 ธันวาคม 2554 ที่ผ่านมา และประกาศผลเมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2554 โดยรางวัลชนะเลิศในระดับอุดมศึกษาตกเป็นของ มหาวิทยาลัยศิลปากร และรางวัลชนะเลิศในระดับมัธยมศึกษาตกเป็นของโรงเรียนเซ็นฟรังก์ซิสซาเวียคอนเวนต์ ผู้ชนะเลิศทั้ง 2 ทีม จะได้รับถ้วยพระราชทานจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทุนการศึกษารวมมูลค่า 256,000 บาท และกรมธรรม์ประกันภัยให้ความคุ้มครองชีวิตและอุบัติเหตุ ทุนประกันภัยรวมมูลค่ากว่า 13 ล้านบาท เป็นเวลา 1 ปี พร้อมทัศนศึกษางานเอนิเมชั่น ณ ประเทศญี่ปุ่นเป็นเวลา 1 สัปดาห์

ผลการแข่งขันระดับอุดมศึกษา
- รางวัลชนะเลิศ ระดับอุดมศึกษาได้แก่ ทีมบู้บี้ จาก มหาวิทยาลัย ศิลปากร
- รองชนะเลิศอันดับ 1ระดับอุดมศึกษาได้แก่ ทีม555+ จาก จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- รองชนะเลิศอันดับ 2 ระดับอุดมศึกษา ได้แก่ ทีม J.E.T. DO จาก มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี

รางวัลชมเชยระดับอุดมศึกษา ได้แก่
ทีมTerraBright จากมหาวิทยาลัยมหิดล
ทีมวังสโม จากมหาวิทยาลัยบูรพา
ทีมกำโป๋ จากมหาวิทยาลัยบูรพา
ทีมปวยปวย จากมหาวิทยาลัยศิลปากร
ทีมสกาวเดือน จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ วิทยาเขตศาลายา
ทีมศิวิไลน์ จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี

ผลการแข่งขันระดับมัธยมศึกษา
- รางวัลชนะเลิศระดับมัธยมศึกษา ได้แก่ ทีม Habray จากโรงเรียนเซนต์ฟรังซีสซาเวียร์ คอนเเวนต์
- รองชนะเลิศอันดับ 1 ระดับมัธยมศึกษา ได้แก่ ทีมไอติมต้นหอม จากโรงเรียนเซนต์ฟรังซีสซาเวียร์ คอนแวนต์
- รองชนะเลิศอันดับ 2 ระดับมัธยมศึกษาได้แก่ ทีม ม้านั่ง Film จากราชสีมาวิทยาลัย

รางวัลชมเชยระดับมัธยมศึกษา ได้แก่
ทีมโตเกียวบานาน่า จากโรงเรียนสาธิตรามวิทยาลัยรามคำแหง
ทีมซาหลัด จากโรงเรียนเซนต์ฟรังซีสซาเวียร์คอนแวนต์
ทีม Smile Studio จากสิรินธรราชวิทยาลัย
ทีมชามไก่ (บุญวาทย์ 01) จากโรงเรียนบุญวาทย์วิทยาลัย
ทีม Ting-Tong Ranger จากภูเก็ตวิทยาลัย
ทีม THE GAG จากโรงเรียนเซนต์ฟรังซีสซาเวียร์คอนแวนต์
ทีมสามล้อ จากโรงเรียนเซนต์ฟรังซีสซาเวียร์คอนแวนต์

เกี่ยวกับโครงการ
"ไทยแลนด์ เอนิเมชั่น คอนเทสต์ 2011 โดย อยุธยา อลิอันซ์ ซี.พี." เป็นความร่วมมือระหว่าง บมจ. อยุธยา อลิอันซ์ ซี.พี.ประกันชีวิต ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) และมูลนิธิ 5 ธันวามหาราช ซึ่งมีการจัดการแข่งขันต่อเนื่องมาทุกปี โดยปีนี้เป็นปีที่ 5 ภายใต้หัวข้อ “คนรุ่นใหม่หัวใจรักโลก” ซึ่งมีนักเรียน นักศึกษาที่สนใจส่งผลงานประกวดแข่งขันกว่า 1600 คน

นางสาวพัชรา ทวีชัยวัฒนะ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ฝ่ายบริหารการตลาดและสื่อสารองค์กร บมจ. อยุธยา อลิอันซ์ ซี.พี.ประกันชีวิต เปิดเผยว่า เป็นที่น่าภาคภูมิใจมากที่โครงการ “ไทยแลนด์ เอนิเมชั่น คอนเทสต์ 2011 โดย อยุธยา อลิอันซ์ ซี.พี.” ปีที่ 5 ได้รับความสนใจจากเยาวชนในระดับมัธยมและอุดมศึกษาจมากกว่าทุกปีที่ผ่านมา สะท้อนให้เห็นความสนใจของเยาวชนไทยในเรื่องที่สร้างสรรค์ และผลงานส่วนใหญ่ได้เผยให้เห็นแนวคิดและจิตสำนึกในด้านการรักษาสิ่งแวดล้อม โดยสามารถสื่อสารแนวคิดรักโลกออกมาในรูปของภาพยนตร์เอนิเมชั่น เราเชื่อเป็นอย่างยิ่งว่าโครงการนี้ได้กระตุ้นให้คนรุ่นใหม่มั่นใจในศักยภาพของตนในการริเริ่มสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ โดยเฉพาะด้านเอนิเมชั่น ซึ่งถือเป็นพื้นฐานสำคัญต่อการเรียนรู้ของเยาวชนไทย”

การประกวดการสร้างภาพเคลื่อนไหวของโครงการ “ไทยแลนด์ เอนิเมชั่น คอนเทสต์ 2011 โดยอยุธยา อลิอันซ์ ซี.พี.” ภายใต้หัวข้อ “คนรุ่นใหม่หัวใจรักโลก” แบ่งการแข่งขันออกเป็น 2 ระดับ คือระดับมัธยมศึกษาและระดับอุดมศึกษา ซึ่งเปิดตัวเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา โดยผลงานเอนิเมชั่นที่ส่งเข้าประกวดจะต้องมีความยาวไม่เกิน 2 นาที และสร้างด้วยโปรแกรม Open Source เท่านั้น ในปีนี้ถือว่าประสบความสำเร็จเกินคาด มีเยาวชนจากทั่วประเทศส่งผลงานเข้าประกวดมากกว่าทุกปี มากถึง 534 ผลงาน จาก 534 ทีม หรือกว่า 1,600 คน ซึ่งมีผลมาจากชื่อเสียงของโครงการที่เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางในกลุ่มอาจารย์ นักเรียน รวมทั้งมืออาชีพในวงการเอนิเมชั่น การตัดสินผลงานในโครงการการนี้ จัดให้มีการคัดเลือกระดับละ 10 ทีม รวม 20 ทีม เพื่อเข้ารอบสุดท้าย โดยเยาวชนที่ผ่านการคัดเลือก 20 ทีมสุดท้าย จะถูกเชิญให้เข้าเก็บตัวในค่ายพัฒนาฝีมือและเพิ่มพูนความรู้ด้านการสร้างสรรค์เอนิเมชั่นขั้นสูง โดยมีอาจารย์และผู้เชี่ยวชาญด้านเอนิเมชั่นให้คำปรึกษาอย่างใกล้ชิด เพื่อเตรียมความพร้อมในการสร้างผลงานคุณภาพในรอบชิงชนะเลิศ โดยจะเข้าค่ายเป็นเวลา 2 วัน 1 คืน รวม 34 ชั่วโมง เมื่อวันที่ 10-11 ธันวาคมที่ผ่านมา ณ สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ เยาวชนจะได้รับความรู้เพื่อใช้ในการสร้างสรรค์งานเพิ่มเติม และจะต้องทำผลงานเพิ่มเติมต่อให้เสร็จจากผลงานเดิมที่ส่งเข้าประกวด 2 นาที เพิ่มอีก 1 นาที รวมเป็นผลงานชิ้นสุดท้ายที่มีความยาว 3 นาที เพื่อนำเสนอต่อคณะกรรมการในรอบสุดท้าย นอกจากนั้นได้มีการถ่ายทำกิจกรรมดังกล่าวเพื่อทำการเผยแพร่แบบเรียลไทม์ในเว็บไซต์ http://www.aacp.co.th/thailandanimation และได้ตัดต่อเพื่อเผยแพร่ทาง Mango TV ในสไตล์เรียลิตี้ ซึ่งแบ่งเป็น 5 ตอน ตอนละ 5 นาที โดยหวังให้เป็นแรงบันดาลใจให้เยาวชนทางบ้านได้เห็นถึงพัฒนาการของเยาวชนไทยในการสร้างสรรค์จินตนาการไร้ขีดจำกัดอีกด้วย

โครงการ “ไทยแลนด์ เอนิเมชั่น คอนเทสต์ 2011 โดย อยุธยา อลิอันซ์ ซี.พี.” ถือเป็นโครงการประกวดผลงานเอนิเมชั่นเวทีเดียว ที่มีการจัดอบรมเข้มข้นในระดับนี้ให้กับผู้เข้าประกวด และที่ถือเป็นไฮไลท์หรือกิจกรรมพิเศษสำหรับปีนี้คือ บริษัทฯ ร่วมกับศูนย์เทคโนโลยีอิเลิกทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) ได้จัดให้มีโครงการต่อยอด ด้วยการพัฒนาหัวกะทิเอนิเมชั่นไทยสู่เวทีโลก โดยนำผู้ที่มีความสามารถยอดเยี่ยมจากโครงการฯ เข้ารับการอบรมขั้นสูงเป็นครั้งแรกกับโครงการพัฒนาศักยภาพเยาวชนผู้มีความสามารถด้านเอนิเมชั่นสู่การแข่งขันระดับโลก (Talent Development Program for International Animation Contest 2011) พร้อมเชิญผู้เชี่ยวชาญด้านเอนิเมชั่นชื่อดังจากประเทศญี่ปุ่น ดร.ซาไก ชิเกคะซึ จากมหาวิทยาลัยวาเซดะ บินตรงมาให้ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับการประกวดโดยเฉพาะ เพื่อพัฒนาผลงานเยาวชนไทยส่งประกวดในเวทีสากล ASIA DIGITAL ART AWARD 2011ณ ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งได้ส่งผลงานไปทั้งหมด 7 ชิ้นงาน เมื่อเดือนตุลาคม ที่ผ่านมา ซึ่งจะทำการตัดสินภายมในเดือนธันวาคม 2554 และเยาวชนที่เป็นหัวกะทิในปีนี้ รวมถึงผู้ชนะเลิศทั้ง 2 ระดับ ก็จะได้เข้าโครงการและรับการอบรมการสร้างเอนิเมชั่นขั้นสูงต่อไป

ดร.กว้าน สีตะธนี รองผู้อำนวยการ ฝ่ายกำกับดูแลกลุ่มบริหารจัดการงานวิจัย ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) กล่าวว่า "การแข่งขันครั้งนี้ มีเงื่อนไขและกฏเกณฑ์หลักที่กำหนดให้สร้างผลงานเอนิเมชั่น โดยใช้ “ซอฟต์แวร์โอเพนซอร์ส” แม้ว่าเราจะได้ริเริ่มส่งเสริมให้มีการใช้งานโอเพนซอร์สเป็นเครื่องมือในการสร้างผลงานมาตั้งแต่ปี 2552 แต่ดูเหมือนว่า ในระยะเริ่มต้นของการแข่งขัน การใช้เครื่องมือนี้ก็ยังอาจจะสร้างความกังวลใจให้กับหลายทีมไม่น้อย มี “ซอฟต์แวร์โอเพนซอร์ส” ซึ่งนับเป็นซอฟต์แวร์ทางเลือกที่ดี สำหรับการใช้งานทดแทน หรือปัจจุบันอาจกล่าวได้ว่า มีคุณสมบัติเทียบเท่ากับซอฟต์แวร์อื่นๆที่ขายในท้องตลาด มาให้ใช้งานได้ในแต่ละประเภทการใช้งาน จากเทคโนโลยีที่มีอยู่ ประกอบกับเจตนารมณ์ในการที่จะส่งเสริม ให้เยาวชนเคารพในทรัพย์สินทางปัญญาของผู้อื่น โดยการหลีกเลี่ยงการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ ผู้จัดโครงการฯจึงเลือกที่จะส่งเสริมให้ผู้เข้าแข่งขันใช้โอเพนซอร์สในการพัฒนาผลงานเอนิเมชั่น ความยาว 3 นาที ด้าน ดร.จรินทร์ สวนแก้ว ประธานมูลนิธิ ๕ ธันวามหาราช กล่าวว่า การแข่งขันในปีนี้ภายใต้หัวข้อ “คนรุ่นใหม่หัวใจรักโลก” ซึ่งได้รับพระมหากรุณาธิคุณชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อหวังกระตุ้นเยาวชนไทยมีทัศนคติและค่านิยมในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ซึ่งปัจจุบันโลกกำลังได้รับผลกระทบในรูปของภัยพิบัติธรรมชาติที่รุนแรง อันเป็นผลจากการทำลายทรัพยากรธรรมชาติอย่างต่อเนื่อง ถึงเวลาแล้วที่เราทุกคนจะต้องร่วมกันคิดและแก้ไขปัญหาอย่างจริงจังร่วมกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มเยาวชนซึ่งจะเติบโตเป็นกำลังสำคัญของชาติและของโลก ควรอย่างยิ่งที่จะต้องมีจิตสำนึกในเรื่องนี้ ดังนั้นการประกวดครั้งนี้ นอกจากจะเป็นเวทีให้พวกเขาคิดริเริ่ม สร้างสรรค์แนวทางแก้ปัญหาและป้องกันภัยพิบัติทางธรรมชาติ และปลุกสำนึกรักโลก ถ่ายทอดออกมาในรูปแบบสื่อเอนิเมชั่นแล้วยังส่งเสริมการใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ และพัฒนาฝีมือนักสร้างสรรค์ให้แก่อุตสาหกรรมเอนิเมชั่นไทยอีกด้วย สุดท้ายนี้ขอขอบคุณ บมจ.อยุธยา อลิอันซ์ ซีพี ประกันชีวิต ที่ได้ยื่นหยัด มั่นคง แน่วแน่เป็นเจ้าภาพหลักในการประกวดสร้างภาพเคลื่อนไหวของโครงการ ไทยแลนด์ เอมิเนชั่น คอนเทสต์ ๒๐๑๑ มาโดยตลอดเป็นระยะเวลา ๕ ปี"

สำหรับผลการตัดสิน Thailand Animation Contest 2011 นั้น รางวัลชนะเลิศระดับอุดมศึกษาเป็นของทีม “บู้บี้” ในชื่อเรื่องว่า “my dad bought me a gift” ของนางสาวชญานิศ เกียรติโชคชัยกุล นายชานนท์ พุทธประสาทพร และนายวรวัฒน์ ขจรชัยกุล ส่วนรางวัลชนะเลิศระดับมัธยมศึกษา เป็นของทีม “หาบเร่” เรื่อง “one minute” ของนางสาวนางสาวบุศรินทร์ เธียนชัยวัฒนา และนางสาวสิริกร วิเศษผลิตผล นักเรียนจากโรงเรียนเซนต์ฟรังซีสซาเวียร์คอนแวนต์ การตัดสินในครั้งนี้ ได้รับเกียรติจากมืออาชีพด้านเอนิเมชั่นและคอมพิวเตอร์กราฟิกชั้นนำ มาเป็นคณะกรรมการตัดสิน อาทิ ดร.วิรัช ศรเลิศล้ำวาณิช ผู้ช่วยผู้อำนวยการ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์ และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) คุณพัชรา ทวีชัยวัฒนะ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ฝ่ายบริหารการตลาดและสื่อสารองค์กร บมจ. อยุธยา อลิอันซ์ ซี.พี. ประกันชีวิต คุณสุภณวิชญ์ สมสมาน (พี่จั๊ก), Founder, บริษัท The Monk Studios คุณอาทยา บุญสูง (พี่แคน), กราฟฟิคระดับ Hollywood คุณเปลว ศิริสุวรรณ, Director & Creative, บริษัท 3 Studios คุณวิศิษฏ์ อรธนาลัย, Director/Storyboard Artist, คุณณัฐจรัส เองมหัสสกุล, บรรณาธิการ, นิตยสาร Computer Arts Thailand และนิตยสารรายสองเดือน Computer Arts Projects Thailand ม.ล.ลือศักดิ์ จักรพันธุ์, IT Director และ Deputy Vice Business Development บริษัท S&P Syndicate จำกัด (ผู้แทนสมาคมสมาพันธ์โอเพนซอร์สแห่งประเทศไทย) คุณบูลย์ศักดิ์ วัธนวิสิต, Creative Director, บริษัท เมจิกวอนด์ จำกัด

รางวัลสำหรับทีมชนะเลิศระดับมัธยมศึกษาและอุดมศึกษา ได้แก่ ถ้วยพระราชทานจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทุนการศึกษารวมมูลค่า 256,000 บาท และกรมธรรม์ประกันภัยให้ความคุ้มครองชีวิตและอุบัติเหตุ ทุนประกันภัยรวมมูลค่ากว่า 13 ล้านบาท เป็นเวลา 1 ปี พร้อมทัศนศึกษางานเอนิเมชั่น ณ ประเทศญี่ปุ่นเป็นเวลา 1 สัปดาห์ ผู้สนใจสามารถติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ http://www.aacp.co.th/thailandanimation

 

Share this post

Submit to FacebookSubmit to TwitterSubmit to LinkedIn