บทความใหม่

กิจกรรมที่กำลังมาถึง

ไทยตกลงหนึ่งอันดับ ด้านความสามารถทางการแข่งขันของอุตสาหกรรมไอที

ดาวไม่ได้ใช้งานดาวไม่ได้ใช้งานดาวไม่ได้ใช้งานดาวไม่ได้ใช้งานดาวไม่ได้ใช้งาน
 

เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2554 ที่ผ่านมา มีรายงานฉบับล่าสุดของกลุ่มพันธมิตรธุรกิจซอฟต์แวร์(บีเอสเอ)เรื่องดัชนีชี้วัดความสามารถด้านการแข่งขันในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศ(ไอที)ซึ่งจัดทำโดยอีโคโนมิสต์ อินเทลลิเจนซ์ ยูนิต หรือ อีไอยู (Economist Intelligence Unit, EIU) ชี้ว่า ประเทศไทยควรเร่งเพิ่มขีดความสามารถด้านการแข่งขันในอุตสาหกรรมไอที ครั้งนี้นับเป็นครั้งที่ 4 แล้ว ที่ดัชนีชี้วัดความสามารถด้านการแข่งขันในอุตสาหกรรมไอที ได้รับการอัพเดทข้อมูล นับตั้งแต่ได้รับการจัดทำขึ้นครั้งแรกในปีพ.ศ. 2550 โดยชี้วัดความสามารถด้านการแข่งขันในอุตสาหกรรมไอทีของ 66 ประเทศ ด้วยปัจจัยพื้นฐานที่สำคัญต่อการสร้างสรรค์นวัตกรรมด้านไอที เช่น สิ่งแวดล้อมในการดำเนินธุรกิจโดยรวม โครงสร้างพื้นฐานด้านไอที ทรัพยากรบุคคล การค้นคว้าวิจัยและพัฒนา (อาร์แอนด์ดี) สิ่งแวดล้อมด้านกฎหมาย และการสนับสนุนจากภาครัฐต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมไอทีของประเทศ

สำหรับปี พ.ศ. 2554 นี้ สหรัฐอเมริกาครองอันดับหนึ่ง โดยมีคะแนนสูงสุดจากการวัดคะแนนของปัจจัยพื้นฐานที่สำคัญทั้งหมดที่ใช้คำนวณเพื่อชี้วัดความสามารถด้านการแข่งขันในอุตสาหกรรมไอที ตามด้วยฟินแลนด์ สิงคโปร์ สวีเดน และสหราชอาณาจักร ประเทศไทยครองอันดับที่ 50 ลดลงจากอันดับที่ 49 ในปีพ.ศ. 2552 โดยมีสาเหตุหลักมาจากการลดลงของคะแนนในส่วนที่เป็นปัจจัยส่งเสริมสนับสนุนจากรัฐบาลที่มีให้กับการพัฒนาของอุตสาหกรรมไอทีของประเทศ อย่างไรก็ตาม เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นภายในภูมิภาคเอเชียด้วยกัน ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 11 ถัดจากสาธารณรัฐประชาชนจีน และแซงหน้าฟิลิปปินส์ เวียดนาม และอินโดนีเซีย

ตามกรอบนโยบายเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ระยะ พ.ศ. 2554 – 2563 ของประเทศไทย (ICT 2020) ประเทศไทยมีเป้าหมายชัดเจนที่จะพัฒนาความสามารถด้านการแข่งขันในอุตสาหกรรมไอที/ไอซีที เพื่อส่งเสริมการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) จะเริ่มมีผลในปี พ.ศ. 2558 โดยมีดัชนีชี้วัดความสามารถด้านการแข่งขันในอุตสาหกรรมไอที ที่จัดทำโดยอีไอยู เป็นหนึ่งในเครื่องมือชี้วัดความสำเร็จ

“ดัชนีชี้วัดความสามารถด้านการแข่งขันในอุตสาหกรรมไอที ประจำปี พ.ศ. 2554 ช่วยประเมินความสามารถด้านการแข่งขันในอุตสาหกรรมไอที/ไอซีทีของประเทศ และเป็นแนวทางสำหรับการทำงานต่อไป เพื่อสนับสนุนการพัฒนาของอุตสาหกรรรมไอที/ไอซีทีของประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของโครงสร้างพื้นฐานด้านไอที ทรัพยากรบุคคล และสิ่งแวดล้อมด้านกฎหมาย” นางจีราวรรณ บุญเพิ่ม ปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กล่าว

“การพัฒนาระบบคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาให้ก้าวทันการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วของเทคโนโลยี และการบังคับใช้กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา เป็นพันธกิจของกรมทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งจะทำให้สามารถคุ้มครองสิทธิของเจ้าของทรัพย์สินทางปัญญาด้านนวัตกรรมไอทีและไอซีทีในโลกยุคดิจิตอลได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งจะเป็นการสนับสนุนการสร้างสรรค์นวัตกรรม และพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมไอที/ไอซีทีของประเทศในระยะยาว” นางปัจฉิมา ธนสันติ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา กล่าว

“นอกจากนี้ พันธกิจดังกล่าวยังสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล ซึ่งเน้นการพัฒนาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ และส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากงานนวัตกรรม เพื่อเสริมสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศอย่างยั่งยืน สร้างโอกาสทางธุรกิจให้แก่ผู้ประกอบการใหม่ และสร้างโอกาสการว่าจ้างงานที่เพิ่มขึ้น” สำหรับปีนี้ ดัชนีชี้วัดความสามารถด้านการแข่งขันในอุตสาหกรรมไอที พบว่าประเทศที่มีความสามารถด้านการแข่งขันในอุตสาหกรรมไอทีสูงมาตั้งแต่ต้นยังคงครองตำแหน่งผู้นำ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะว่า “ความได้เปรียบย่อมก่อให้เกิดความได้เปรียบ” กล่าวคือ ประเทศเหล่านี้ได้ลงทุนสร้างรากฐานที่แข็งแกร่งสำหรับเอื้อต่อการเติบโตของนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา และในเวลานี้ พวกเขากำลังเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ที่เกิดจากความได้เปรียบดังกล่าว อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ ในสนามแข่งขันระดับโลก กำลังเต็มไปด้วยสิ่งท้าทายใหม่ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้ท้าชิงที่เพิ่มมากขึ้นจากประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งได้ยกระดับมาตราฐานของตัวเองให้สูงขึ้นเพื่อเทียบเท่ากับมาตราฐานที่ประเทศผู้นำด้านไอทีได้วางไว้ “ดัชนีชี้วัดความสามารถด้านการแข่งขันในอุตสาหกรรมไอทีสำหรับปีนี้ ชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนว่า การลงทุนเพื่อวางรากฐานสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการสร้างนวัตกรรมทางเทคโนโลยีจะนำไปสู่ผลตอบแทนมหาศาลในระยะยาว” นายโรเบิร์ต โฮลลีแมน ประธานและประธานเจ้าหน้าที่ผู้บริหารของบีเอสเอ กล่าว

“นอกจากนี้ ยังเห็นได้ชัดว่าไม่มีประเทศไหนในโลกที่จะสามารถผูกขาดในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศได้ มันมีสูตรสำเร็จที่ได้รับการพิสูจน์แล้วว่าได้ผล และทุกคนมีสิทธิที่จะหาประโยชน์จากสูตรสำเร็จดังกล่าว ดังนั้น จึงกล่าวได้ว่าเรากำลังเข้าสู่โลกยุคที่เต็มไปด้วยศูนย์กลางอำนาจด้านไอทีมากมายที่กระจายอยู่ทั่วโลก” “ถึงแม้ว่าโดยภาพรวมแล้ว ประเทศไทยได้ถูกลดอันดับในการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมไอที แต่ข่าวดีก็คืออัตราการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์บนเครื่องพีซีของประเทศไทยได้ลดลงอย่างต่อเนื่องและรวดเร็ว นอกจากนี้ แนวทางหนึ่งที่ประเทศไทยสามารถจะนำไปปฏิบัติเพื่อให้ได้รับการจัดอันดับที่สูงขึ้นก็ คือ การวางนโยบายความเป็นกลางทางด้านเทคโนโลยี และคงไว้ซึ่งโอกาสที่เท่าเทียมกันสำหรับผู้มีส่วนร่วมในอุตสาหกรรมนี้ และเทคโนโลยีทั้งหมด” นายโรเจอร์ ซอมเมอร์วิลล์ ผู้อำนวยการอาวุโสด้านนโยบายประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ของบีเอสเอ กล่าว

ประเทศที่มีการเปลี่ยนแปลงในการจัดอันดับมากที่สุดในปีนี้ ได้แก่ มาเลเซีย ที่เลื่อนขึ้นไปถึง 11 อันดับ จากการวัดคะแนนของปัจจัยพื้นฐานที่สำคัญทั้งหมดที่ใช้คำนวณเพื่อชี้วัดความสามารถด้านการแข่งขันในอุตสาหกรรมไอที โดยมีสาเหตุมาจากคะแนนที่เพิ่มขึ้นอย่างมากในส่วนของปัจจัยด้านการค้นคว้าวิจัยและพัฒนา (อาร์แอนด์ดี) อินเดียเลื่อนขึ้นไป 10 อันดับ เนื่องจากความแข็งแกร่งของปัจจัยด้านการค้นคว้าวิจัยและพัฒนา (อาร์แอนด์ดี) และปัจจัยด้านทรัพยากรบุคคล ส่วนประเทศอื่นๆ ได้แก่ สิงคโปร์ แม็กซิโก ออสเตรีย เยอรมนี และโปแลนด์ ต่างได้รับการจัดอันดับดีขึ้น ด้วยคะแนนที่เพิ่มสูงขึ้นในส่วนปัจจัยพื้นฐานที่สำคัญทั้งหมด โอกาสสำหรับประเทศไทย ที่จะสร้างสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการพัฒนาความสามารถด้านการแข่งขันในอุตสาหกรรมไอที ยังคงมีอยู่มาก “จากการที่มีนักเศรษฐศาสตร์ออกมาคาดการณ์เกี่ยวกับ อัตรารายได้หลังหักภาษีเงินได้และค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่จะเพิ่มมากขึ้นในประเทศไทย ทำให้เราเห็นโอกาสที่ดีที่จะส่งเสริมความสามารถด้านการแข่งขันในอุตสาหกรรมไอทีของประเทศไทยในระยะยาว” นางสาว วารุณี รัชตพัฒนากุล โฆษกของบีเอสเอ ประจำประเทศไทย กล่าว

“เราสนับสนุนให้ผู้บริหารระดับสูงผู้มีหน้าที่ในการกำหนดนโยบาย ได้พิจารณาผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นในระยะยาว และให้ความสำคัญต่อการพัฒนาปัจจัยพื้นฐานที่สำคัญทั้งหกปัจจัยดังกล่าวในการศึกษาของอีไอยู โดยมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาความสามารถด้านการแข่งขันในอุตสาหกรรมไอทีของประเทศไทยเราในอนาคต”

ท่านสามารถดาวน์โหลดดัชนีชี้วัดความสามารถด้านการแข่งขันในอุตสาหกรรมไอทีประจำปี พ.ศ. 2554 ได้ที่ www.bsa.org/globalindex พร้อมตารางการจัดอันดับ บทสรุปของรายละเอียดสำหรับประเทศต่างๆ กรณีศึกษาต่างๆ ในอุตสาหกรรมไอที และวีดีโอการสัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญด้านไอที

ดัชนีชี้วัดความสามารถด้านการแข่งขันในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศของประเทศไทย การจัดอันดับตามคะแนนของปัจจัยพื้นฐานที่สำคัญ 6 ปัจจัย เทียบกับประเทศทั้งหมด 66 ประเทศที่ได้รับการสำรวจ

ข้อมูลสำคัญ
- ประเทศไทยลดลงมาหนึ่งอันดับ สำหรับการจัดอันดับของปีนี้ สาเหตุหลักมาจาก มีการลดลงของคะแนนในส่วนที่เป็นปัจจัยส่งเสริมสนับสนุนการพัฒนาของอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศ
- รายได้หลังหักภาษีเงินได้และค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่มีอัตราเพิ่มมากขึ้น และการแข่งขันที่สูงขึ้นในตลาดบรอดแบนด์ เป็นที่คาดว่า จะไปกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยด้านเทคโนโลยีสารสนเทศโดยรวม นำไปสู่การขยายตัวของตลาดเพื่อการเข้าถึงอุปกรณ์เทคโนโลยีสารสนเทศแบบเคลื่อนที่และบรอดแบนด์
- เรื่องท้าทายที่สำคัญสำหรับประเทศไทย คือ การข้ามผ่านอุปสรรคที่ทำให้การดำเนินงานด้านระเบียบข้อบังคับทางกฎหมายเป็นไปอย่างล่าช้า รวมถึง ความล่าช้าในการยกระดับการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา และการประมูลใบอนุญาตเครือข่าย 3 จี ซึ่งเป็นปัจจัยที่อาจจะทำให้การพัฒนาขั้นต่อไปของระบบเทคโนโลยีไร้สายในอนาคตต้องหยุดชะงักลง

 

Share this post

Submit to FacebookSubmit to TwitterSubmit to LinkedIn