บทความใหม่

กิจกรรมที่กำลังมาถึง

ตำรวจ "จับมือ" พันธุ์ทิพย์ รณรงค์ไม่มีซอฟต์แวร์เถื่อนในห้าง

ดาวไม่ได้ใช้งานดาวไม่ได้ใช้งานดาวไม่ได้ใช้งานดาวไม่ได้ใช้งานดาวไม่ได้ใช้งาน
 

ตำรวจวอนผู้ประกอบการในแวดวงการค้าเครื่องคอมพิวเตอร์ร่วมกันแก้ไขปัญหาการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาตามห้างไอที ชูพันธุ์ทิพย์ พลาซ่าเป็นผู้ประกอบการตัวอย่าง หลังผู้บริหารประกาศวิสัยทัศน์จะพัฒนาให้เป็นห้างปลอดสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ พร้อมกระตุ้นผู้ผลิตให้เพิ่มสัดส่วนการลงโปรแกรมลิขสิทธิ์มาพร้อมเครื่องก่อนการขาย ด้านผู้แทนจำหน่ายควรให้คำแนะนำที่ถูกต้องแก่ผู้บริโภคและต้องกวดขันหน้าร้านมิให้ทำการขายโปรแกรมเถื่อน ตั้งเป้าเร่งตรวจสอบและปราบปรามการค้าซอฟต์แวร์เถื่อนตามศูนย์การค้าทั่วประเทศ

 

“สำนักงานตำรวจแห่งชาติขอชื่นชมผู้บริหารห้างพันธุ์ทิพย์ พลาซ่า ที่ได้ประกาศเจตนารมณ์เป็นศูนย์การค้าปลอดสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ 100% ตั้งแต่เดือนกันยายน ปี พ.ศ. 2557 เป็นต้นไป โดยจะดำเนินการยับยั้งการจำหน่ายสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ อาทิ ซอฟต์แวร์ เพลง และภาพยนตร์” พ.ต.อ. ชัยณรงค์ เจริญไชยเนาว์ รองผู้บังคับการกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ หรือ บก.ปอศ. กล่าว “ในฐานะตัวแทนของภาครัฐ เราหวังว่าผู้ประกอบรายอื่นๆควรยึดเป็นแบบอย่างที่ดีในการประกอบธุรกิจ โดยรัฐบาลได้กำหนดเป็นนโยบายว่า หน่วยงานราชการและเอกชนที่เกี่ยวข้องจะต้องมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาที่เกิดขึ้นร่วมกันอย่างมีบูรณาการ”

ทั้งนี้ตำรวจยังคงต้องมีการบังคับใช้กฎหมายอย่างต่อเนื่อง เพื่อปราบปรามกิจกรรมการค้าสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ในพื้นที่ตามห้างสรรพสินค้า โดยเฉพาะในห้างที่มีการจำหน่ายสินค้าประเภทอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ ซึ่งถือเป็นชุมชนอันประกอบไปด้วยผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย อาทิ ผู้ผลิต ผู้จัดจำหน่าย เจ้าของพื้นที่ และผู้บริโภค ซึ่งแต่ละฝ่ายสามารถมีส่วนร่วมกับทางเจ้าหน้าที่ในการลดอาชญากรรมอันเกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญาได้ โดยในเรื่องความร่วมมือจากเจ้าของพื้นที่นั้นสามารถปกป้องผู้ประกอบการจากการบังคับใช้กฎหมายความรับผิดของเจ้าของพื้นที่ ทั้งในส่วนของข้อบังคับที่กำหนดภายใต้เงื่อนไขในปัจจุบันและที่อาจบังคับใช้เพิ่มเติมในอนาคต

ผู้ประกอบการควรให้ความร่วมมือในการตรวจสอบการดำเนินงานธุรกิจ โดยควรจะกวดขันกับพนักงานไม่ให้ทำการเสนอโปรแกรมคอมพิวเตอร์ละเมิดลิขสิทธิ์ให้กับลูกค้า ร่วมกันประชาสัมพันธ์และให้คำแนะนำแก่ลูกค้าไม่ว่าจะเป็นลูกค้ารายย่อยหรือองค์กรธุรกิจให้เห็นความสำคัญของการใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่ถูกลิขสิทธิ์ อีกทั้งยังใคร่ขอความสนับสนุนจากผู้ผลิตเครื่องคอมพิวเตอร์ให้เพิ่มสัดส่วนการจำหน่ายเครื่องมาพร้อมกับซอฟต์แวร์ลิขสิทธิ์ที่จำเป็นต่อการใช้งาน เพื่อยุติปัญหาการใช้ซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์จากระดับต้นน้ำ

ตำรวจได้ใช้ความพยายามเรื่อยมาที่จะลดอัตราการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ที่มาพร้อมกับการค้าปลีกอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ โดยเฉพาะในศูนย์การค้าด้านไอที โดยได้ขอความร่วมมือจากผู้ประกอบการศูนย์การค้าให้ช่วยสอดส่องดูแลและแจ้งเตือนผู้เช่าให้งดเว้นการจำหน่ายสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ โดยถือเป็นการแสดงความรับผิดชอบในฐานะเจ้าของพื้นที่ให้เช่า ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของ “โครงการชุมชนต้นคิดต่อต้านการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา” ของ บก.ปอศ. จากการสำรวจเมื่อเร็วๆนี้ พบว่ามีร้านค้าเครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์อยู่ประมาณ 1,200 แห่งทั่วประเทศ โดย 450-500 ร้านค้าตั้งอยู่ในกรุงเทพฯและจังหวัดใหญ่ๆ และมียอดขายคิดเป็นร้อยละ 80 ของยอดขายโดยรวมในแต่ละปี ซึ่งเป็นกลุ่มที่ตำรวจจะจับตามองเป็นพิเศษ

 

“การละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ทำให้ประเทศไทยต้องสูญเสียรายได้จากภาษีอากรในแต่ละปีเป็นจำนวนมหาศาล และยังเป็นการทำลายภาพลักษณ์ของประเทศไทยในสายตาของต่างประเทศ อีกทั้งยังทำให้ประเทศสูญเสียโอกาสทางการค้า โดยเฉพาะการที่ไทยยังอยู่ในข่ายประเทศที่ต้องจับตามองเป็นพิเศษของสหรัฐอเมริกา ตำรวจจึงจำเป็นต้องเร่งปราบปรามการละเมิดลิขสิทธิ์อย่างเคร่งครัด” พ.ต.อ. ชัยณรงค์ กล่าว พ.ต.อ. ชัยณรงค์ กล่าว

 

เครื่องคอมพิวเตอร์ส่วนใหญ่ที่นำเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทย จะถูกนำมาเป็นแบบเครื่องเปล่าไม่มีโปรแกรมใดๆ ซึ่งมีผู้ค้าปลีกจำนวนน้อยมากที่จะมีการจำหน่ายเครื่องคอมพิวเตอร์พร้อมการติดตั้งโปรแกรมที่ถูกต้อง ผู้ซื้อส่วนใหญ่เลือกที่จะซื้อซอฟต์แวร์เถื่อนในราคา 300-500 บาท เพื่อติดตั้งและนำมาใช้งาน

 

“ซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์มีราคาถูกกว่าก็จริง แต่สิ่งที่ผู้บริโภคอาจจะได้กลับมาจากการใช้ซอฟต์แวร์ผิดกฎหมายนั้น คือพวกมัลแวร์และไวรัสต่างๆ ที่มากับโปรแกรมคอมพิวเตอร์เหล่านั้น ทางการใคร่ขอเตือนผู้ขายว่า เราจะมีแผนบุกเข้าตรวจค้นถี่ขึ้น และจากการที่ได้ทำการประชาสัมพันธ์ให้ได้รับรู้ทั่วกันแล้ว ผู้ที่กระทำความผิดจะได้รับการพิจารณาโทษอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้” พ.ต.อ. ชัยณรงค์ กล่าว

 

“โดยเฉพาะธุรกิจที่ต้องส่งออกสินค้าไปสหรัฐอเมริกา การใช้ซอฟต์แวร์ผิดกฎหมายนั้นอาจทำให้เจ้าของธุรกิจถูกปรับและดำเนินคดีฐานละเมิดกฎหมายว่าด้วยการแข่งขันทางธุรกิจที่ไม่เป็นธรรม เนื่องจากกฎหมายดังกล่าวมองว่าผู้ประกอบการที่ใช้ซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์จะมีความได้เปรียบต่อคู่แข่งที่ปฏิบัติตามกฎหมายอย่างไม่เป็นธรรม”

 

ภายใต้พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ ปี พ.ศ. 2537 การละเมิดลิขสิทธิ์โปรแกรมคอมพิวเตอร์ ไม่ว่าจะเป็นการขาย การถือครองเพื่อขาย หรือการนำเสนอขายโปรแกรมเหล่านั้นมีโทษจำคุกไม่เกิน 4 ปี หรือปรับไม่เกิน 800,000 บาท และศาลอาจมีคำสั่งให้ปิดกิจการของผู้กระทำความผิดได้

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

Share this post

Submit to FacebookSubmit to TwitterSubmit to LinkedIn